หุ้นเล็กดีอย่างไร


ก่อนที่จะตอบคำถามข้างต้น ผมก็อยากที่จะให้นิยามเพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกันก่อนว่าหุ้นเล็กคืออะไร

หุ้นเล็กคือหุ้นที่มี Market Capitalization น้อยกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท) ในตลาดหลักทรัพย์ไทยอาจจะถือเอาเกณฑ์ที่น้อยกว่าคือ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 10,000 ล้านบาท)

ทำไมเขาต้องแบ่งว่าหุ้นนี้เป็นหุ้นเล็ก กลางหรือใหญ่

วิธีนี้เป็นวิธีการแบ่งตามเกณฑ์ของ “นักลงทุนสถาบัน” เพื่อที่จะจัดสรรเงินลงทุนตามขนาดของกองทุนที่บริหารอยู่ได้อย่างเหมาะสม ถ้าขนาดกองทุนใหญ่มากมาก การจัดสรรเงินลงทุนแค่ 1% ลงไปในหุ้นเล็กอาจจะมากจนใกล้ราคาของ Market Cap อาจจะทำให้กองทุนแห่งนั้นต้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งจะเขาต้องเข้าไปเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร ซึ่งจะเป็นการยุ่งยากที่จะทำ หรือถ้าถือหุ้นเกิน 25% จะต้องเข้าทำคำเสนอหุ้นทั้งหมดในตลาด ซึ่งบางครั้งกองทุนก็ไม่อยากจะทำ ปัญหาด้านสภาพคล่อง มูลค่าการซื้อขายต่อวันที่น้อย และปัญหาอื่นๆซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของบริษัทขนาดเล็ก ที่ทำให้กองทุนและนักลงทุนสถาบันทั้งหลาย ต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ มาทำการพิจารณาการลงทุนในหุ้นที่มี Market Cap ขนาดเล็ก และมักจะต้องจัดตั้งกองทุนเฉพาะเจาะจง และมีข้อความในหนังสือชี้ชวนแก่นักลงทุนที่เป็นการเฉพาะเจาะจง

ก่อนที่จะอธิบายถึงลักษณะของหุ้นเล็กหรือบริษัทขนาดเล็กในตลาดหลักทรัพย์ ผมคงจะต้องอธิบายลักษณะเฉพาะของหุ้น/บริษัทขนาดเล็กให้ทุกท่านเข้าใจก่อน ซึ่งลักษณะเหล่านี้อาจจะไม่จำเพาะเจาะจงเฉพาะแต่เพียงหุ้นที่มี Market Cap ขนาดเล็กหรือบริษัทขนาดเล็กเท่านั้น เพียงแต่ลักษณะเหล่านี้จะปรากฎได้บ่อยกว่าบริษัทที่มีขนาดกลางและใหญ่เท่านั้นเอง

อย่างแรก บริษัทขนาดเล็กมักจะมีผู้ก่อตั้งผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนๆเดียวกัน ทำให้บริษัทต้องพึ่งพาผู้บริหารค่อนข้างมาก ในการกำหนดทิศทางของบริษัทในอนาคต 

อย่างที่สอง ศักยภาพของบริษัทขนาดเล็กในการโตนั้นมีสูงกว่า แต่ก็ยังขึ้นกับปัจจัยอื่นๆอีกหลายประการ ปัจจัยที่สำคัญคือขนาดตลาดของผลิตภัณฑ์ที่บริษัทมีอยู่นั้น สามารถเจาะตลาดที่มีขนาดใหญ่หรือสามารถสร้างขนาดตลาดขนาดใหญ่ได้หรือไม่ สามารถขยายขนาดตลาดได้รวดเร็วเพียงใด เมื่อสร้างได้ จะสามารถป้องกันคู่แข่งรายอื่นได้หรือไม่ ถ้าสามารถทำได้อย่างที่ว่ามาทั้งหมด บริษัทขนาดเล็กก็จะเติบโตกลายเป็นบริษัทขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ บริษัทชั้นนำ ไม่ว่า “Micro”soft, “Minor”International, Apple ก็ล้วนแต่เคยเป็นบริษัทขนาดเล็กมาก่อน

อย่างที่สาม บริษัทขนาดเล็กสามารถทำกำไรโตได้ง่ายหากสินค้าบริษัทได้รับความนิยม เนื่องจากการมีฐานกำไรเดิมที่ต่ำ

อย่างที่สี่ การเข้าถึงเงินทุนทำได้ยากกว่า เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าและเจ้าหนี้ปล่อยกู้ได้ยากกว่า หากต้องขยายกิจการ มีโอกาสที่ต้องใช้เงินเพิ่มทุนสูงกว่า เงินกำไรของบริษัทส่วนใหญ่จึงต้องนำขยายงาน มีโอกาสจ่ายเงินปันผลสูงที่น้อยกว่า

อย่างที่ห้า ในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลภายใน บริษัทขนาดเล็กมีช่องทางในการประชาสัมพันธ์และงบประมาณในการโฆษณาที่ต่ำกว่า

สำหรับนักลงทุนทั่วไปที่มีเงินน้อยอย่างเรา การแบ่งหุ้นออกเป็นขนาดเล็ก กลางหรือใหญ่ นั้นมีประโยชน์หรือไม่

การมองหุ้นหรือบริษัทที่มีขนาดเล็กด้วยวิธีการเฉพาะจะทำให้เราสามารถเข้าใจและเลือกที่จะลงทุนหรือไม่ในบริษัทขนาดเล็กได้ดีกว่า

บริษัทขนาดเล็กที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่

1.บริษัทที่มีการดำเนินงานหรือผู้บริหารที่ไม่โปร่งใส

2.บริษัทที่อัตราการทำกำไรของสินค้าไม่โดดเด่น หรือต้องอาศัยการประหยัดในเชิงขนาด

3.บริษัทไม่มี partnership ที่แข็งแรงกว่ามาช่วยพยุง หรือไม่สามารถแข่งขันได้ดี

4.บริษัทที่มีโครงสร้างเงินทุนเป็นหนี้ที่สูง

5.บริษัทที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ที่เน้นนวัตกรรมหรือนวัตกรรมนั้นยังไม่มากพอสำหรับผู้บริโภค

บริษัทที่มี Market Cap ขนาดเล็กยังมีลักษณะเฉพาะต่อปัจจัยที่มีผลกระทบต่อ “ราคาหุ้น” ที่ไม่เหมือนกับบริษัทใหญ่ดังนี้

1.สภาพคล่องของหุ้นมีออกมาซื้อขายน้อยกว่า ราคาจึงอาจจะไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง (ทั้งต่ำไปหรือสูงไป)

2.นักลงทุนสถาบันอาจจะไม่สามารถเข้ามาถือหุ้นได้ สำหรับนักลงทุนต่างชาติก็เป็นข้อจำกัด ดังนั้นนักลงทุนบุคคล (รายย่อย) จึงเป็นผู้ที่เข้ามาทำการซื้อขายเป็นหลัก

3.การลงทุนควรมีความเข้าใจในตัวบริษัทและทิศทางในอนาคตที่มากกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า

4.มองหาโอกาสที่จะมี exit strategy ในรูปแบบของการถูกซื้อกิจการหรือควบรวม

5.กราฟทางเทคนิคไม่สามารถเชื่อถือได้ดี เพราะสภาพคล่องและปริมาณการซื้อขายที่จำกัด และสามารถ manipulation ราคาได้ง่าย ควรใช้การวิเคราะห์ในเชิงพื้นฐานจะดีกว่า

exit strategy ในการซื้อหุ้นในกิจการขนาดเล็กคือ การรอให้หุ้นเติบโตเป็นกิจการขนาดกลาง หรือการถูก takeover โดยบริษัทขนาดใหญ่ หากเรามองไม่พบโอกาสดังกล่าว การลงทุนในกิจการที่มีขนาดใหญ่จะให้ความปลอดภัยกับเงินลงทุนที่มากกว่า

หุ้นเล็กที่ดีมีน้อยกว่าหุ้นเล็กที่แย่มากครับ โอกาสที่หุ้นเล็กที่ดีจะโตไปเป็นบริษัทขนาดกลางมีเพียงแค่ 10% แต่การโตจะทำให้บริษัทโตไปถึง 10 เท่า ดังนั้นการประสบความสำเร็จในการลงทุนหุ้นเล็ก จำเป็นที่จะต้องเลือกสรรมากกว่าบริษัทขนาดกลางหรือใหญ่ และยากกว่าสำหรับนักลงทุนทั่วไป


High risk แต่ก็ High Return (ถ้าทำได้)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)