VI หรือ MI (2)


ถ้าจะนับปริมาณเม็ดเงินสำหรับการลงทุนในแบบต่างๆในโลกนี้ การลงทุนในแนววีไอนั้น ถือเป็นเม็ดเงินเพียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับปริมาณเงินทั้งหมดที่โลกของเรามี ถ้าจะถามว่าเงินส่วนใหญ่ในโลกนี้ไปอยู่ที่ไหนหมด เราจะต้องมาทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่าปริมาณเงินก่อน

ปริมาณเงิน มีอยู่สองแบบ คือ ปริมาณเงินตามความหมายแคบ คือนับเฉพาะส่วนที่มีสภาพคล่องสูงสุด สามารถนำออกมาใช้ได้ในทันที

ปริมาณเงินตามความหมายแคบหรือ M1 = ธนบัตรที่หมุนเวียน + เหรียญกษาปณ์ + เงินฝากกระแสรายวัน

และปริมาณเงินตามความหมายกว้าง M2 ประกอบด้วย M1 ข้างต้น + เงินฝากของประชาชนในรูปของเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ เงินฝากในรูปตั๋วสัญญาใช้เงิน

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือน กค.ปี57 เรามีเงินตามความหมายกว้างอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท และมีเงินตามความหมายแคบอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท แปลว่าเงินฝากมีมากกว่าเงินที่หมุนเวียนอยู่ถึง 10เท่า

เมื่อมีความต้องการเพิ่มหรือลดปริมาณเงินในระบบ อย่างเช่นนโยบาย QE ที่เราคงได้ยินกันบ่อยๆ ทางธนาคารกลางของสหรัฐไม่ได้พิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาจริงๆ ทั้งนี้เพราะในเวลาเศรษฐกิจฝืดเคือง ความต้องการปริมาณธนบัตรเพื่อใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะลดลง แต่เป็นการเพิ่ม/ลดปริมาณเงินในรูปแบบ M2 ผ่านการออก/ไถ่ถอนพันธบัตรหรือตั๋วสัญญาใช้เงินแทน

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือน กค.ปี 57 เช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีมูลค่า Market Cap อยู่ที่ 13.5 ล้านล้านบาท เทียบกับปริมาณเงิน M2 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 84.3% ในขณะที่  Market Cap ในเดือน กค.ปี47 (สิบปีก่อน) = 4.1 ล้านล้านบาทปริมาณเงินในเดือน กค.ปี47 = 7.3 ล้านล้านบาท = 56.1% แสดงว่าในปัจจุบันมีกระแสเงินและปริมาณเงินเข้ามาหมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อสิบปีก่อน

เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อมีปริมาณเงินเพิ่มในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา Market Cap ก็เพิ่มหรือแปรผันไปในทางเดียวกัน

การเป็น MI หรือ Momentum Investor ก็คือการเข้าไปดูว่า ปริมาณเงินที่ใดจะมากขึ้น ปริมาณเงินในที่ใดจะน้อยลง และเงินกำลังจะไหลไปที่ใดจากที่ใด 

ปรากฏการณ์ที่หลักทรัพย์มีราคาเพิ่มขึ้นในช่วงนี้จึงมีที่มาจากการไหลของเงินมากกว่าตัว Intrinsic Value ของตัวหลักทรัพย์เอง ดังนั้นท่านจึงอาจจะไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมผลประกอบการของบริษัทยังไม่ดีขึ้น แต่ราคาหุ้นมักจะขึ้นไปรอก่อนแล้ว เป็นเพราะว่าประเทศไทยเรามีปริมาณเงินเพิ่มขึ้นถึง 2เท่าในช่วงระยะเวลา 10ปี และเงินจำนวนนี้ยังมีความโน้มเอียงที่จะไหลเข้ามาในตลาดหุ้นมากกว่า 10ปีก่อนด้วยนั่นเอง

เงินมีทางเลือกในการไหลไปสองทาง คือทางที่เป็นเงินฝาก(หรือพันธบัตร) กับทางที่เป็นตราสารทุน การจะไหลไปทางใดก็จะขึ้นอยู่กับว่า ทางใดจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ในขณะที่ดอกเบี้ยต่ำ เราจะเห็นการไหลเข้าสัมพัทธ์ของปริมาณเงินไปในตลาดทุน ในขณะที่ถ้ามีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เราจะเห็นการไหลของเงินไปในด้านตรงข้าม

การเพิ่มหรือลดของปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจทำได้หลายทาง ได้แก่ การออก/ไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาล การเพิ่ม/ลดการออกสินเชื่อ การเพิ่ม/ลดการใช้จ่ายภาครัฐและการเก็บภาษี แต่ที่มีปัจจัยสำคัญสูงสุดคือ การเพิ่ม/ลดอัตราดอกเบี้ย

สำหรับ MI แล้วจำเป็นต้องมีความเข้าใจในเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค ข้างต้นรวมถึงเรื่องอื่นๆเช่น GDP อัตราการว่างงาน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย เพื่อนำมาคำนวณปัจจัยในการไหลเข้าออกของเงินไปยังตลาดสินค้าหรือตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ

ถ้าหาก FED ยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย ECB เพิ่งประกาศลดดอกเบี้ย BOJ ยังคิดจะพิมพ์เงินเพิ่ม BOT ยังต้องออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่อง และมีต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน

คำถาม: ท่านคิดว่าดอกเบี้ยจะขยับไปในทิศทางใด

คำถาม: ท่านคิดว่า SET Index จะขยับไปในทิศทางใด


ขอไม่เฉลยนะครับ เดี๋ยวจะหาว่าเป็นการชี้นำราคา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)