ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)
ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)
ผมคิดว่าสิ่งที่กำลังจะเขียนต่อไปนี้นั้นไม่มีสอนกันในโรงเรียน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกท่านใช้ความตั้งใจในการอ่านให้มากขึ้น เพราะผมกลัวว่ามันจะเข้าใจยากเกินไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากท่านได้ยินเรื่องราวเหล่านี้เป็นครั้งแรก
สิ่งที่เราได้ยินมา ได้ฟังมา ได้อ่านมา จำได้ หรือยอมรับกันโดยทั่วไปนั้น เราต้องระลึกอยู่เสมอว่า มันอาจเป็นเพียง “ข้อมูล” ไม่ใช่ “ข้อเท็จจริง” ข้อคิดเห็นของบุคคลที่มีความน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง ก็ยังคงเป็น “ข้อคิดเห็น” ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
ข้อเท็จจริง (Fact) นั้นคือ ข้อมูลที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่ามีความถูกต้อง โดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ มีหลักฐานโดยประจักษ์
ข้อคิดเห็น (Opinion) ก็คือ สิ่งที่เกิดจากการไตร่ตรองข้อมูลในเบื้องต้น ยังต้องอยู่ในระหว่างการตรวจสอบถึงความถูกต้อง ถ้าเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จะเรียกสิ่งที่เป็นข้อคิดเห็นว่าเป็น “สมมุติฐาน” (Hypothesis) ในทางกฏหมายเรียกสิ่งนี้ว่า “ข้อกล่าวหา” ยังไม่ใช่คำตัดสิน
ข้อมูล (Information) นั้นเป็นเพียงวัตถุดิบเบื้องต้นเกี่ยวกับหัวข้อในสิ่งที่เราสนใจ ก่อนที่เราจะรวบรวมข้อมูล ตรวจสอบ ทดลอง และวัดผล เพื่อสรุปให้เป็นข้อคิดเห็นของเรา จากนั้นเราจึงจะทำการแสดงความคิดเห็นของเราเพื่อให้ผู้อื่นตรวจสอบ เมื่อไม่มีผู้เชี่ยวชาญอื่นใดจะโต้แย้งได้ หรือมีหลักฐานเชิงประจักษ์แล้ว จึงจะพอสรุปได้ว่า สิ่งนั้นคือข้อเท็จจริง
ท่านคงมองภาพออกแล้วว่า ข้อเท็จจริงนั้น เป็นสิ่งที่ต้อง “ใช้เวลา” มีการทำอย่างเป็นกระบวนการ และไม่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล
ส่วนความคิดเห็น ใช้เวลาสั้นกว่า กระบวนการง่ายกว่า และขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแต่ละคนมาก
ส่วนข้อมูลนั้นก็เหมือนของสดในตลาด กินโดยตรงไม่ได้ มีมากเกินกว่าที่เราต้องการใช้จริง ต้องเลือกให้ดี
สิ่งที่เราต้องเข้าใจอีกอย่างหนึ่งคือ ข้อเท็จจริงนั้น เป็นข้อเท็จจริงเท่าที่เราพอจะพอตรวจสอบ มีข้อมูลหรือหลักฐานในปัจจุบันเท่านั้น ในอนาคตเมื่อเรามีข้อมูล หลักฐาน หรือสามารถพิสูจน์ได้มากขึ้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้จะถูกปัดให้ตกไปเป็นเพียงข้อคิดเห็น การเชื่อสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงในปัจจุบันจนลืมไปว่าสิ่งเหล่านี้หากปฏิบัติไปนานๆอาจจะไม่เป็นข้อเท็จจริงในอนาคต เนื่องจากมีหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติม อาจทำให้ผู้นำไปถือปฏิบัติเกิดผลเสียหายได้ ดังนั้น สิ่งที่แม้เราเรียกว่า “ข้อเท็จจริง” นั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะตั้งอยู่ได้อย่างถาวร
การจะแยกแยะสองสิ่งนี้ออกจากกันได้ เราต้องมีและใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “วิจารณญาณ” คือการนั่งลงมือ ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ข้อมูลที่ได้รับมานั้นว่า ดี ครบถ้วน รอบด้าน น่าเชื่อถือ หรือไม่ เพียงใด การใช้วิจารณญาณนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของคนแต่ละคนเท่านั้น เราไม่สามารถวางใจให้ผู้อื่นทำหน้าที่นี้แทนได้ หากเรายังสงสัยหรือไม่เข้าใจ เราก็ควรที่จะรวบรวมข้อมูลที่ยังต้องการต่อไป เสนอความคิดเห็นให้ผู้อื่นได้ตรวจสอบ หากมีเวลาไม่มากพอหรือสุดวิสัยที่เราจะทำเองได้ เราจึงค่อยพึ่งพาวิจารณญาณของผู้อื่นมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติไปก่อน จากนั้นเราก็ยังต้องใช้วิจารณญาณของตนเองอีกทีว่าจะยังเชื่อถือหรือปฏิบัติอยู่เช่นนั้นหรือไม่ หากเรามีข้อมูลหลักฐานที่มากขึ้น
บุคคลผู้ที่รับข้อมูลมาทั้งดุ้นโดยไม่ได้ใช้วิจารณญาณของตนเองใคร่ครวญก่อนที่จะเชื่อถือหรือลงมือปฏิบัตินั้น ก็เหมือนกับการกินส้มเข้าไปทั้งลูกโดยไม่ปอกเปลือก ย่อมได้ทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีปนไปด้วยกัน จนอาจเกิดความเสียหายได้
โลกในปัจจุบันนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า ข้อมูล และ ความคิดเห็น ถูกส่งไปมาและปรากฏให้เราเห็นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การมีและฝึกการใช้วิจารณญาณด้วยตนเองในทุกเรื่องนั้น ยิ่งจะมีความจำเป็นมากขึ้นในปัจจุบัน และยิ่งจะมากขึ้นในอนาคต การใช้วิจารณญาณของตัวเองนั้น เราจำเป็นต้องทำอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย อย่าลืมเด็ดขาดว่า ความเห็นของผู้อื่นนั้น จำเป็นต่อการทำให้ ข้อเท็จจริงใดๆนั้น ถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์
ในฐานะนักลงทุน การใช้วิจารณญาณด้วยตนเองนั้นจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อการกำหนดแผนการลงทุนที่ประสบผลสำเร็จ การพึ่งพาแต่ข้อคิดเห็น หรือ ข้อมูล ที่ได้ยินได้ฟังมาโดยตรง ไม่สามารถช่วยให้เราสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดในระยะยาวได้ ผมจึงหวังอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะฝึกฝนกระบวนการใช้วิจารณญาณในทุกๆวัน ในทุกครั้งที่เราได้รับข้อมูล ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัว การทำงาน และการลงทุน
สิ่งเหล่านี้จะเป็นสมบัติอันล้ำค่าที่จะติดตัวท่านไป และจะส่งผลให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแท้จริง
ปล.อย่าลืมว่าบทความตอนนี้เป็นเพียงข้อมูล หรือข้อคิดเห็น อย่าเพิ่งเชื่อโดยที่ยังไม่ได้ใคร่ครวญให้ดีนะครับ ☺
ความคิดเห็น