You are what you eat กินอย่างไร เราก็กลายเป็นอย่างนั้น

You are what you eat 
กินอย่างไร เราก็กลายเป็นอย่างนั้น

ในปัจจุบันที่ผู้คนเริ่มใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น อาหารก็ดูเหมือนว่าจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผู้คนในสังคมไทยเริ่มมีความตระหนักและให้ความสำคัญในการเลือกซื้อ ราคากลายเป็นปัจจัยหนึ่ง พอๆกับที่คนไทยเริ่มให้ความสนใจกับคุณภาพของอาหารที่มากขึ้น สนใจในสารอาหารต่างๆที่จะได้รับ สารพิษตกค้าง และบางครั้งเราก็ยังจะตรวจสอบไปแม้กระทั่งว่า อาหารนี้ผลิตขึ้นมาจากที่ไหน โดยใคร และถูกส่งมาถึงมือเราได้อย่างไร

ความตระหนักในเรื่องนี้ น่าจะเป็นผลจากโรคภัยไข้เจ็บในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ที่การบริโภคอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ (ซึ่งส่วนใหญ่คือการบริโภคมากเกินไปหรือการกินไม่มีความหลากหลายพอ) ทำให้มนุษย์เราเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควรไปเป็นจำนวนมาก ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้นำไปสู่โรคอื่นๆต่อเนื่องอีกมากมายทั้ง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง รวมทั้งอาจอธิบายไปถึงอัตราการเกิดโรคมะเร็งในประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีๆ การบริโภคอาหารให้เหมาะสมทั้งในด้าน "ปริมาณ" และ "คุณภาพ" จึงเป็นสิ่งที่เราควรตระหนักทุกครั้งก่อนที่จะนำมันเข้าไปในร่างกาย เพราะร่างกายเรานั้น ล้วนประกอบขึ้นมาจากสิ่งที่เรากินเข้าไป ไม่ใช่สิ่งที่เราไม่ได้กิน หรือ You are what you eat กินอย่างไร เราก็กลายเป็นอย่างนั้น

ในปัจจุบัน นอกจากที่เราจะต้องฉลาดในการบริโภคอาหารแล้ว สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งและจะมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆคือการบริโภคทางตาและทางหู ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วเช่นในปัจจุบันนี้ การบริโภคทางตาและทางหูจำนวนมากๆ ก็ไม่ต่างจากการกินอาหารฟาสฟู๊ด ที่ราคาถูก เข้าถึงง่าย สะดวกรวดเร็ว แต่ไม่ค่อยจะมีสาระ ข้อมูลข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายและมีราคาถูกเหล่านี้ สามารถล่อลวงให้เราบริโภคมันจนเกินพอดี และเหมือนกับโรคอ้วน โรคเบาหวาน การบริโภคอินเตอร์เนต เฟสบุ๊ค ทีวี ไลน์ มากเกินไปก็ทำให้สมองเรามีข้อมูลขยะตกค้างในแต่ละวันจำนวนมาก ซึ่งอาจนำมาซึ่งอาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กังวล หรืออาจจะเป็นอาการติด ไม่เปิดดูไม่ได้ จนเราไม่สามารถเหลือเวลาไปทำสิ่งอื่นที่อาจจะมีประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้ยังไม่รวมความเห็นผิด ที่เกิดจากการอ่านและส่งต่อความเห็นที่ผิดๆ ความเชื่อที่ผิดๆ ค่านิยมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งถ้าเราเห็นหรือบริโภคมันบ่อยๆ เราก็จะเกิดความเคยชินและเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ไม่ดีนั้นได้อย่างไม่ยากเย็น

ปัญหาของนักลงทุนที่จะต้องทำการค้นหาและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากในแต่ละวันนั้น เราจำเป็นต้องมีแนวทางในการ "กรองข้อมูล" ออกไปเสียบ้าง ไม่เช่นนั้น เราก็จะเป็นคนที่มีข้อมูลมากเยอะแยะไปหมด แต่ตัดสินใจไม่ได้ เหมือนคนอ้วนมากๆที่ทำอะไรให้ว่องไวแม่นยำได้ยากกว่า ข้อมูลที่เรารับมามากๆก็มีโอกาสที่จะได้ของที่ด้อยคุณภาพเข้ามาได้มากขึ้น ดังนั้น นอกจากที่เราจะต้องใส่ใจกับอาหารและการบริโภคทางปากแล้ว การบริโภคทางตาและหูก็เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กันเลย

สิ่งที่ผมกังวลแทนนักลงทุนรุ่นใหม่ๆก็คือ สมัยก่อนหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนมีน้อย เขียนโดยผู้ชำนาญเสียมาก คุณภาพดี ปริมาณเหมาะสม ตรงข้ามในปัจจุบันที่หนังสือออกมามาก ใครเขียนมาก็ขายได้ ถูกผิดก็ไม่รู้ ผลในระยะยาวก็ยังไม่รู้ ถ้าผมต้องมาเริ่มต้นการเป็นนักลงทุนในช่วงปัจจุบันนี้ ผมก็คงลำบากในการเลือกบริโภคอย่างมาก และอาจจะเผลอกินหนังสือที่มีพิษไปบ้างเข้าแล้วก็ได้ อาหารเป็นพิษกินไปนั้นมันไม่ค่อยอันตราย เพราะร่างกายเรายังรู้และอาเจียนออกมาในที่สุด แต่หนังสือหรือแนวคิดที่เป็นพิษนั้นไม่รู้จะทำเช่นไร สมองเราก็ไม่สามารถแยกแยะหรืออาเจียนมันออกมาได้ แนวคิดหรือข้อมูลที่เป็นพิษมีแต่จะไปแทรกซึมสะสมโดยเราไม่รู้สึกตัว จนอาจนำไปสู่การเห็นผิด เห็นต่างกันอย่างรุนแรง ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วในสังคมไทยในยุคเสื้อหลากสี ทีวีร้อยช่อง สมาร์ทโฟนร้อยApp เช่นในปัจจุบัน

ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราอาจจะต้องมีการ "ดีท๊อกซ์" บำบัดข้อมูลขยะตกค้างในสมองในจิตใจของเราบ้าง เช่นเดียวกับที่เราไปดีท๊อกซ์กระเพาะและลำไส้กับอาหารขยะและมีสารพิษที่เรากินเข้าไป การดีท๊อกซ์จิตใจนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร แค่อยู่เงียบๆเสียบ้าง ปิด device ทุกชนิด ปิดใจเรื่องภายนอกชั่วคราว หันจิตใจมาสนใจความรู้สึกภายใน รับรู้ความเป็นไปในร่างกายของเรา  ถ้าสิ่งเหล่านี้มันยากเกินไป เราก็อาจสามารถดีท๊อกซ์จิตใจทางอ้อมเราได้ ผ่านการออกกำลังกายซัก 1 ชั่วโมงต่อวัน ทำโยคะ หรือนอนให้เพียงพอ ก็จะช่วยให้สมองเรามีที่ว่าง พอว่างแล้ว เราก็ให้เลือกรับสิ่งต่างๆที่มีประโยชน์เข้าไปทดแทน 

การบริโภคอาหารให้ครบถ้วนหลากหลายก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราควรจะฟังความเห็นให้รอบด้านครบถ้วนก่อนตัดสินใจ ฟังข้อมูลและเหตุผลจากทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝั่งที่เหมือนเราและฝั่งที่ไม่เหมือนเรา จากนั้นก็ให้ตัดสินจาก common sense หรือสามัญสำนึกพื้นฐานก็พอ ว่าสิ่งนั้นทำให้เกิดผลดีและผลเสียอย่างไรบ้าง และเราจะเลือกทางใด การตัดสินใจจากเพียงแค่การระดมเสียงให้ได้เป็นส่วนใหญ่ หรือการดูว่าคนส่วนใหญ่นั้นคิดอย่างไร อาจไม่ใช่วิธีการหาคำตอบของปัญหาที่ดี การเห็นผิดนั้นไม่สามารถกลายเป็นการเห็นถูกได้แค่มีคนเห็นผิดด้วยกันเป็นจำนวนมาก ทางที่ดี เรายังไม่ควรตัดสินก่อนการรวมรวมข้อมูล ลืมว่าเราจะมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร ก็จะช่วยลดความลำเอียงในการรับรู้และตัดสินใจของเรา นำไปสู่ความเห็นที่ถูกต้อง การตัดสินใจที่ถูกต้อง และผลตอบแทนที่ถูกต้องในระยะยาว

You are not only what you eat, but also what you see and what you learn.

อ่านหรือฟังอะไร (นานๆไป) เราก็กลายเป็นอย่างนั้น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)