รวยเงินหรือรวยเวลาอย่างไหนดีกว่ากัน?



อยากมีเงินเยอะๆดี หรือว่ามีเวลาว่างไปทำอะไรที่อยากทำแบบเต็มๆ ถ้าเลือกได้เราควรจะมุ่งเป้าชีวิตของเราไปทางไหน?

การทำงานประจำเกือบทุกประเภทมักจะจ่ายค่าจ้างตามเวลาที่เราทำงานให้และสามารถบรรลุวัตถุขั้นต่ำที่ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้ เช่นถ้าเราทำงานเป็นลูกจ้างประจำมีเงินเดือนอยู่แล้ว หากเราอยากจะมีรายได้เพิ่ม เราก็ต้องไปรับงานเสริมข้างนอกมาทำ

สำหรับงานที่ได้รายได้ตามผลงานที่ทำ เช่นพนักงานขาย การจะทำยอดขายเพิ่มก็ต้องสละเวลาไปพบลูกค้าบ่อยๆ เพิ่มเวลาให้กับการเสนอขาย การหารายได้เพิ่มมักต้องแลกกับเวลาที่เสียเพิ่มขึ้นไปด้วย 

อะไรเป็นจุดสมดุลที่ดีระหว่างรายได้และเวลาว่างที่เราควรจะมี ส่วนตัวผมคิดว่าคงเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถกำหนดลงให้แน่ชัดไปได้ ความเหมาะสมในเรื่องนี้คงต้องให้เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะจัดสรรทรัพยาการที่ตัวเองมีอยู่ให้ลงตัวกับสถานการณ์ต่างๆกันไปของแต่ละคน แต่แนวคิดเรื่องการบริหารเวลาในการทำงานให้เหมาะสมนั้นมีอย่างไรบ้าง จะขอยกตัวอย่างมาให้ดูกันครับ

ถ้าเรามีแนวคิดว่าอยากทำงานแล้วต้องได้ผลตอบแทนให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ (Maximize profit) วิธีนี้เราจำเป็นต้องเหลือเวลาว่างให้น้อยที่สุด เอาเวลาไปแลกเงินให้ได้มากที่สุด ถ้าทำงานทั้งเจ็ดวันไปแล้ว ก็ไปพิจารณาดูว่างานใดให้ผลตอบแทนน้อย ก็ตัดออกไปแล้วรับงานที่จ่ายเงินมากกว่าในช่วงเวลาที่เท่ากัน บริหารเวลาเดินทาง เวลาทำธุระต่างๆให้เหลือน้อยที่สุด เพิ่มเวลาทำมาหากินให้ได้มากที่สุด อยู่เวรทุกวัน ไม่หลับไม่นอนได้ก็ยิ่งดี ฟังดูแย่ แต่กลับมานอนที่บ้านทำไม ไม่ได้ตังส์

แนวคิดที่แบบที่สองคือแนวคิดแบบหาจุดดุลยภาพ (Most efficient) คือทำงานเฉพาะช่วงที่ทำให้เกิดผลผลิตที่สูงที่สุดต่อเวลา แล้วต้ดเวลาช่วงที่ให้ประโยชน์น้อยกว่าทิ้งไป เช่นถ้าขายของ 9 ชั่วโมงได้ยอดขาย 80% แล้ว เราอาจปิดร้านเร็วขึ้น 3 ชั่วโมงและยอมทิ้งรายได้ 20% ไป แนวคิดวิธีนี้เราต้องหาให้ได้ว่าเราทำงานช่วงไหนที่ได้ผลผลิตหรือผลตอบแทนมากให้รักษาไว้ แล้วตัดส่วนที่ทำมากได้น้อยออกไป แน่นอนรายได้เราจะต่ำกว่าวิธีแรก แต่เวลาว่างน่าจะเพิ่มขึ้นได้

แนวคิดแบบที่สามคือมุ่งเวลาเป็นใหญ่ (Fixed schedule) เช่นเรากำหนดไปเลยว่า เราจะทำงานหลัก 4 วันต่อสัปดาห์ และ 3 วันไปทำสิ่งที่รัก หรือทำงาน 9 เดือนหยุด 3 เดือนไปเที่ยว แล้วจากนั้นค่อยไปคิดว่างานแบบไหนที่อนุญาตให้เราทำอย่างนี้ได้บ้าง ค่าตอบแทนก็เอาให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แบบนี้ดูเหมือนจะไม่หวังรวยมากนัก แต่รับรองได้ว่ามีเวลาได้ทำสิ่งที่อยากทำได้แน่ๆ

ถ้าเราบอกว่าเราจะทำงาน ทำงาน และทำงาน มันมักไม่ค่อยมีปัญหากับชาวบ้าน จะมีบ้างก็แต่ปัญหาสุขภาพทรุดโทรม ซึ่งเราก็มักจะไม่ค่อยได้ใส่ใจ ในทางตรงข้าม ถ้าเราไปบอกนายจ้างว่า ผมจะทำงาน 4 วันนะ ส่วนอีก 3 วันผมอยากจะอยู่กับครอบครัวบ้าง นายจ้างคงจะมีปัญหาเหมือนกันว่าจะจ้างเราต่อไปในตารางงานที่ไม่เหมือนกับเจ้าของได้อย่างไร "ตกลงผมให้คุณอยู่บ้านทั้งเจ็ดวันเลยดีกว่านะ” 

มองในแง่แนวคิดขององค์กร องค์กรแบบแรก ผมขอเรียกง่ายๆว่า "โรงงานทาส" บริษัทแบบนี้มักเป็นอุตสาหกรรมการผลิตต่อเนื่องแบบสายพาน ผมเชื่อว่าคนดีๆเก่งๆจะค่อยๆไปจากบริษัทในอุตสาหกรรมแบบนี้ มันไม่ตกดินก็คงจะตกดิน เพราะคนดีๆที่ไหนจะเลือกไปทำกัน

องค์กรแบบที่สอง ผมขอเรียกว่า "โรงงานฉลาด" คือรู้ว่าจ้างพนักงานแค่ไหน แล้วได้อะไร สามารถปรับกำลังผลิตได้ตาม demand และ supply มีการวัดผลเรื่องประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา พนักงานต้องทำงานได้ตามเป้าครับ จะนั่งอู้ไม่ได้ แต่จะจ่ายดีกว่าในเวลางานไม่เคร่งครัด

องค์กรแบบที่สาม ผมขอเรียกว่า "โรงงานสร้างสรรค์" คือให้อิสระกับทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทมากที่สุด มองเห็นว่างานและชีวิตส่วนตัวของพนักงานเป็นสิ่งเดียวกัน และเชื่อว่าเมื่อเขาได้ให้คุณค่ากับพนักงานแล้วพนักงานจะตอบแทนองค์กรด้วยสิ่งที่ดีที่สุดเช่นกัน องค์กรแบบนี้มีด้วยเหรอ มีครับ แต่ไม่มีตำแหน่งว่างเหลือครับ เพราะไม่มีใครลาออกกัน

หากมีโอกาส เราควรได้พบปะพูดคุยกับพนักงานของบริษัทที่เราถือหุ้นอยู่บ้าง ผมใช้วิธีนี้เสมอๆในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆของบริษัทที่กำลังจะลงทุนให้รอบด้าน ผมพบว่าเราก็สามารถได้ "ข่าววงใน" ในตลาดหุ้นกับเขาได้เหมือนกัน จากการฟังคำนินทาบริษัทของพนักงานของเขา

สุดท้ายกับคำถาม รวยเงินหรือรวยเวลาอย่างไหนดีกว่ากัน? พบคิดว่าคงขึ้นอยู่กับท่านผู้อ่านแต่ละท่านครับ แต่ถ้าเราลงทุนได้ดี ปัญหานี้คงจะไม่ต้องถาม... 


เพราะเราจะได้ไปทั้งคู่เลยครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)