ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)


ห่างหายกันไปนานจนไม่รู้จะเริ่มเกริ่นเข้าบทความในตอนใหม่อย่างไรดี วันนี้ก็เลยอยากจะเริ่มกับเรื่องที่ดูเหมือนง่าย แต่คนทั่วไปมักจะเข้าใจสับสนกันมากที่สุด นั่นคือความแตกต่างของคำสามคำในวันนี้ คือคำว่า ราคา คุณค่า และ มูลค่า ว่าแต่ละคำมีความหมายและที่ใช้ในเรื่องของการลงทุนอย่างไร

ราคา (Price) คือ ตัวเลขอ้างอิงที่บอกถึง “จำนวนเงิน” ที่ต้องใช้ เพื่อให้เกิดการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนในสิ่งนั้นๆขึ้น ราคาของสิ่งต่างๆที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมีสองแบบคือราคาซื้อขาย (Matched Price) และราคาอ้างอิง (Reference Price)

Reference Price คือราคาอ้างอิงที่หน่วยงานหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงจะทำการประเมินและประกาศออกมา เช่น ราคาขายรถยนต์ที่บริษัทประกาศออกมา ราคาที่ดินที่เป็นราคาประเมิน ราคาคอนโดที่บริษัทประกาศ ราคาหุ้น IPO ราคาแนะนำน้ำมันขายปลีก ฯลฯ ราคาอ้างอิงนี้เราอาจจะไม่ได้ซื้อขายได้จริงตามราคานี้ก็ได้ เช่น รถยนต์ที่ขายยากก็อาจจะมีการจัดโปรโมชั่นต่างๆ คอนโดที่มีการเก็งกำไรและขายหมดไปแล้วอาจจะมีราคาแพงกว่าราคาอ้างอิงก็ได้

Matched Price คือราคาซื้อขายที่เกิดขึ้นจริง ที่เกิดขึ้นได้เพราะทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในขณะนั้นเกิดความพอใจทั้งสองฝ่ายที่จะแลกเปลี่ยนสินค้ากันที่ระดับราคานั้น

ราคาซื้อขายที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเกิดความพอใจสูงสุดนั้นจะนำไปสู่มูลค่าการซื้อขาย (Volume) ที่สูงด้วย ในขณะที่ราคาที่ทำให้เกิดความพอใจเฉพาะผู้ซื้อ หรือผู้ขายเพียงฝ่ายเดียว แม้จะเกิดการซื้อขายที่ราคานั้นบ้าง แต่จะมีปริมาณการซื้อขายต่ำเนื่องจากผู้ซื้อจะซื้อเพียงจำนวนน้อย หรือผู้ขายไม่อยากนำสินค้าออกมาขายที่ระดับราคานั้น ดังนั้นราคาซื้อขายแต่เพียงอย่างเดียวไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นราคาอ้างอิง จำเป็นต้องดูปริมาณการซื้อขายที่ระดับราคานั้นๆด้วย

ราคาจะแปรผันไปได้ด้วยปัจจัยเพียงสามอย่าง คือ Demand Supply และ Regulation แต่เนื่องจากทั้ง Demand Supply และ Regulation นั้นแปรผันได้ด้วยปัจจัยหลายๆอย่าง ราคาจึงเป็นสิ่งที่แปรผันได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง

คุณค่า (Value) คือ ตัวเลขภายหลังการประเมินโดยบุคคลหรือผู้เชี่ยวชาญ โดยอาศัยหลักการในการประเมินมูลค่าตามวิธีต่างๆ โดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานของสิ่งนั้นๆจากอดีต ปัจจุบัน และการคาดการณ์ในอนาคต หลักจากนั้นจึงนำค่าที่ได้ซึ่งเป็นตัวเลขมาเป็นตัวอ้างอิง เพื่อเป็นแนวทางในการซื้อขายหรืออ้างอิงในทางการเงินต่อไป การประเมินคุณค่า นอกจากจะต้องแสดงผลลัพธ์ที่เป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องแสดงฐานในการคิด ว่าใช้โมเดลอะไรในการประเมิน และตามปกติจะต้องใช้การประเมินจากหลายๆวิธีมาประกอบกัน และทำไมผู้ประเมินจึงเลือกราคานั้น ทั้งนี้เพราะผู้ที่จะนำราคาประเมินนี้ไปใช้ จะได้มีเหตุผลอ้างอิงถึงความถูกต้อง หรือโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อน จากการประเมินนั้น

การประเมินคุณค่าทางการเงินนั้น อย่าไปใช้สับสนกับคุณค่าทางศีลธรรมหรือคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ประเมินค่าไม่ได้” โดยตัวของมันเองอยู่แล้ว คำว่าคุณค่า (Value) ในภาษาอังกฤษนั้น ฝรั่งก็มักจะไม่ใช้อย่างโดดๆอย่างเช่นคนไทยชอบใช้กัน แต่มักจะเป็นคำประสมเช่น Value Investor, Valuation Method, Moral Value, Economic Value, Risk Adjusted Value เป็นต้น ซึ่งแต่ละคำ มักจะเป็นคำศัพท์เฉพาะทาง และมีความหมายต่างจากคำว่า “คุณค่า” ในภาษาไทยมากพอสมควร ดังนั้น การลงทุนแบบเน้นคุณค่า ในความคิดผม น่าจะขยายความต่อไปให้ชัดเจนเลยว่า เป็นการลงทุนที่มุ่งเน้นในเรื่องคุณค่าในทางเศรษฐกิจ เท่านั้น

มูลค่า (Worth) นั้นตรงไปตรงมา คือ “ราคาประเมิน” ของทรัพย์สินชิ้นนั้นๆหรือทั้งหมดที่มีอยู่ ราคาประเมินนั้นหาได้จากหลายๆวิธี เช่นราคาซื้อขายล่าสุด ราคาซื้อขายเฉลี่ย ราคาซื้อขายของสิ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ราคาประเมิน ฯลฯ เมื่อใช้วิธีใด ผู้ประเมินค่าก็ควรจะอ้างอิงไว้ในรายงานการประเมินมูลค่าของสิ่งนั้นๆด้วย แม้แต่การโพสข้อความในเวปบอร์ดต่างๆหรือเอกสารรายงานก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ประเมินเป็นผู้เชี่ยวชาญตัวจริงแล้ว จะต้องแจ้งให้เราทราบถึงวิธีการประเมินที่ใช้ด้วย อย่าเชื่อไปเพราะความมีชื่อเสียงของผู้ประเมิน หรือการประเมินนั้นตรงกับความเห็นของเราแต่เพียงอย่างเดียว

จริงๆคำว่า “คุณค่า” ในภาษาไทยนั้น มักจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่ประเมิน “มูลค่า” ได้ยาก ดังนั้นแม้ความหมายแบบแปรตรงตามตัวอักษรของ Value Investor นั้นจะเป็น นักลงทุนเน้นคุณค่า แต่งานหลักจริงๆคือ การประเมิน “มูลค่า” เพราะ คุณค่า นั้น ในสังคมไทย มักเป็นสิ่งที่มักจะเป็นนามธรรมและศีลธรรม ในขณะที่ มูลค่า นั้น ฝืนความรู้สึกคนไทยน้อยกว่าในการประเมิน

มองในทางตรงกันข้าม ของที่มีมูลค่ามาก เช่นเพชร อาจจะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อย ในขณะที่ของที่มีมูลค่าในตัวมันเองน้อย เช่น Silicon อาจจะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมาก (สามารถเอาไปทำแผงวงจรในคอมพิวเตอร์ได้) ดังนั้น บริษัทที่ผมชอบมักจะเป็นบริษัทที่สามารถแปลงของที่มีมูลค่าในตัวเองน้อย เช่นทราย ขยะ น้ำมันดิบ สารเคมีพื้นฐาน ไปเป็นของที่มีคุณค่าต่อมนุษย์มาก เช่น โทรศัพท์มือถือ การรีไซเคิล น้ำมันเชื้อเพลิง ยารักษาโรค เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมาก และมีข้อแม้ที่สำคัญว่า “ผู้อื่นไม่สามารถทำอย่างเขาได้

สำหรับหลักการเบื้องต้นของ Value Investor นั้นก็ไม่มีอะไรมาก แค่เราทำให้ Matched Price ของเรา ต่ำกว่า Valuation Price ที่เราประเมินได้... ยิ่งมาก ก็ยิ่งดี

แต่ที่ยากคือ การรอให้ Market Price ต่ำกว่า Valuation Price นี่สิ ในบริษัทที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงๆแล้ว นี่เป็นปรากฏการณ์หนึ่งในหมื่นเลยทีเดียว

วันนี้ขอจบบทความเพียงแค่นี้ก่อนครับ ค่อยขยายความต่อแบบเรื่อยๆในตอนหน้า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)