มาให้เงินทำงานแทนเรากันเถอะ

มาให้เงินทำงานแทนเรากันเถอะ

ในช่วงท้ายปีที่มีวันหยุดยาวหลายวันต่อกันเช่นนี้ เป็นโอกาสอันดีที่ใครหลายคนจะได้ออกไปใช้ชีวิตนอกสถานที่ทำงานกันบ้าง อาชีพลูกจ้างรายเดือนดูเหมือนจะน่าเห็นใจที่สุด ขนาดเราทำงานกันมาทั้งปีแล้ว จะลาพักกันแต่ละทีก็ต้องคิดกันแล้วคิดกันอีกว่าเขาจะอนุญาตมั้ย แล้วจะเอาเวลาอันแสนที่จะมีค่าที่ได้มาปีละครั้งนี้ไปใช้ทำอะไรกันดี ขนาดวันหยุดตามสิทธิเรา เรายังไม่ค่อยกล้าใช้สิทธิกันเลย ผมยังเคยคิดว่า สมัยที่เรายังเป็นนักเรียน โรงเรียนยังมีช่วงปิดเทอมใหญ่ให้เราบ้าง แต่ทำไมพอยิ่งโตขึ้น แทนที่ชีวิตมันจะดีขึ้น มันกลับแย่ลงอย่างนี้

หลังจากทำงานไปได้สองปีกว่า ผมก็เริ่มสร้างวาระแห่งชาติของตัวเองขึ้น ด้วยการประกาศนโยบาย "ปิดเทอมใหญ่ปีละครั้ง"  และเพื่อให้มันเป็นปิดเทอมที่"ใหญ่"สมกับชื่อ หนึ่งเดือนจึงเป็นเวลาที่เหมาะสม หนึ่งเดือนที่ว่านี้ผมจะยกเวลาให้กับการทำกิจกรรมที่ต้องใช้เวลาทำต่อเนื่องกว่าวันหยุดเสาร์อาทิตย์จึงจะสำเร็จ หนึ่งในกิจกรรมนั้นก็คือการท่องเที่ยว และในปีแรกที่ทำ ผมได้ท่องเที่ยวยาวต่อเนื่องเป็นครั้งแรกในชีวิต ด้วยระยะเวลาหนึ่งเดือนนั้น ผมได้ทำสิ่งที่ผมต้องการในทันที โดยไม่ต้องรอจนเกษียณอายุ เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำของชีวิตจริงๆ

หลังจากหนึ่งเดือนหรรษาได้สิ้นสุดลง ผมกลับมีกำลังใจกำลังกายกลับมาที่จะทุ่มเทให้กับงานอย่างเต็มที่ขึ้น (แบตเตอร์รี่เต็มว่างั้นเถอะ) หนึ่งอาทิตย์หลังจากเริ่มงาน ผมก็ได้รับซองจดหมายมาซองหนึ่ง ข้างในมันเป็นโบนัสปลายปีที่ยอดเยี่ยมมาก ข้างในจดหมายระบุได้ใจความว่า "เราหาคนทำงานแทนคุณได้แล้วล่ะ" หายเงิบไปเลยสิมึง แล้วกรูจะทำยังไงต่อไปดี

หลังจากกลับมาจากการท่องเที่ยวในช่วงปิดเทอมใหญ่ครั้งนั้น ผมคิดว่ามันคงถึงเวลาที่ผมจะต้องหาทางออกใหม่ๆในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง "เงิน" และ "เวลา" ของตัวเองเสียใหม่แล้วล่ะ เพราะแนวทางเดิมที่เป็นอยู่นั้น สำหรับผมแล้ว ดูเหมือนชีวิตจะแย่ลงด้วยซ้ำ มีทางไหนที่จะช่วยให้เรามีทั้ง "เงิน" และ "เวลา" พร้อมๆกันไปได้ การทำงานเพื่อแลกเงินอย่างเก่าไม่สามารถตอบสนองความต้องการในทุกด้านของการมีชีวิต สมองของผมในตอนนั้นก็นึกถึงคำว่า "อิสรภาพทางการเงิน" ขึ้นมาได้ และการให้เงินไปทำงานนั้น อาจทำให้เราสามารถมีสองสิ่งที่มีค่าไปพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน

ผมใช้โบนัสปลายปีที่ยอดเยี่ยมของบริษัทที่ได้มาในปีนั้นนั้น ศึกษาเรื่องวิธีที่จะให้เงินทำงานแทนเราเพิ่มเติม โบนัสนั้นคือการจ่ายเวลามาให้แทนเงิน ถ้าบริษัทไม่ให้ผมออกจากงานในตอนนั้น ผมคงไม่มีเวลาเริ่มศึกษาในเรื่องการของการเงินการลงทุนอย่างเต็มที่ แทนที่จะตัดสินใจหางานใหม่อีกครั้งอย่างรวดเร็วในตอนนั้น ผมตัดสินใจที่จะลดค่าใช้จ่ายรายเดือนลงให้มากที่สุด ห้ามมีหนี้ ชะลอการหางานใหม่ที่ก็เดิมๆไปก่อนเพื่อจะได้มีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น ยังคงไม่ขอเงินจากทางบ้าน เพราะเป็นความตั้งใจของตัวเองหลังจากเรียนจบ ผมไปห้องสมุดของตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกในอาทิตย์ต่อมา ยืมหนังสือมา 5 เล่ม ผมจำได้ว่า หนึ่งเล่มนั้นคือ One Up on Wallstreet ของ Peter Lynch ภาคภาษาอังกฤษ (ที่ทั้งเดือนก็ยังอ่านไม่จบ) 

http://www.se-ed.com/eshop/Products/Detail.aspx?No=9789749270882&CategoryId=364

และหนังสือ "ตีแตก" การลงทุนในภาวะวิกฤต (วิกฤตกรูด้วย)
http://www.se-ed.com/eshop/Products/Detail.aspx?No=9789742126810&CategoryId=364

ผมลองอ่านแบบฟอร์ม 56-1 บริษัทแรกคือบริษัทบ้านปู ใช้เวลาอ่านจนจบทั้งสิ้น 19 วันเต็ม และก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี ผมเห็นว่าถ้าตัวเองยังอ่านมันได้ช้าอย่างนี้เรื่อยๆผมจะมีค่าเสียโอกาสจากการไม่ทำงานประจำแล้วต้องเอาเวลาไปอ่านหนังสือเป็นอย่างมาก แต่ให้เร็วมากๆก็คงยังทำไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เคยเรียนโดยตรงมา สามเดือนต่อมา ผมจึงเลือกงานที่ได้เงินพอสมควร แต่มีเวลาว่างมากกว่างานเก่า เอาไว้อ่านหนังสือเรื่องการบริหารธุรกิจและการลงทุนไปพร้อมๆกัน ผมบังคับให้ตัวเองอ่านให้เร็วขึ้นเพื่อที่จะสามารถอ่านได้มากขึ้น ซึ่งเป็นนิสัยการลงทุนที่ดีที่สุดเช่นเดียวกับ Peter Lynch ที่ต้องวิเคราะห์แยกแยะบริษัทต่างๆกว่าหนึ่งพันบริษัทในเวลาเดียวกัน

ผมได้รับผลสำเร็จตาม mile stone ของการลงทุนของตัวเองที่วางไว้เป็นขั้นๆในเวลาต่อมา ยิ่งทำให้ผมมีกำลังใจที่จะทำมันให้ดีขึ้นอีกมาก ขั้นแรกคือได้เงินปันผลเทียบเท่ากับรายได้จากการทำงานเพิ่มหนึ่งวันต่อสัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อให้ผมสามารถทำงานได้ 5 วันต่อสัปดาห์เท่าเดิมและสามารถเอาหนึ่งวันนั้นไปอ่านหนังสือแต่สามารถมีรายได้เหมือนการทำงาน 6-7 วันต่อสัปดาห์ ขั้นที่สอง ได้เงินปันผลเท่ากับรายได้จากการทำงานหนึ่งวันต่อสัปดาห์ร่วมกับรายได้อีกหนึ่งเดือนเต็ม (เพื่อสามารถให้ผมได้ไปปิดเทอมใหญ่ได้โดยที่เงินคอยทำงานแทนให้อยู่) ขั้นที่สาม ได้ปันผลเป็นรายได้มาครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือนทุกเดือน (แบบพอเพียงนะ) และขั้นสุดท้าย สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ดีกว่าการไปทำงานทุกวันพร้อมมีเงินปันผลมาครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือนเหมือนเดิม

Mile stone อันนี้ทุกท่านสามารถลองเอาไปปรับใช้กับตัวท่านเองได้ ยิ่งเงินเดือนเดิมท่านน้อยเท่าไหร่ ท่านสามารถที่จะทำมันได้ง่ายขึ้นมากเท่านั้น เพราะเงินไม่ต้องขยันมากก็ได้มันก็ได้ผลตอบแทนในระดับนั้นมาแล้ว ถ้าท่านจะลงทุนเพื่อแข่งกันมั่งมีให้รวยกว่าคนอื่นที่เงินเดือนสูงๆ หรือรวยมาแต่ดั้งแต่เดิมแล้ว ท่านจะรู้สึกว่ามันยาก และแทนที่จะรู้สึกว่ารวย กลับรู้สึกว่าตัวเองจนอยู่ตลอดเวลา ค่าใช้จ่ายรายเดือนของเราก็ไม่ควรเพิ่มตามจำนวนเงินที่เรามี ยิ่งท่านเพิ่มค่าใช้จ่ายรายเดือน ความสำเร็จในขั้นที่สามซึ่งก็คือคำว่าอิสรภาพทางการเงินก็ยิ่งจะดูห่างไกล

ชีวิตหลังการมีอิสรภาพทางการเงินนั้นดีกว่าที่ผมคิดไว้ในตอนเริ่มต้น เพราะเมื่อไหร่ที่เราไม่ต้องคิดถึงหรือพึ่งพาเงินมากเกินไป เราจะสามารถมองเห็นคุณค่าด้านอื่นของการมีชีวิตได้ง่ายขึ้น เห็นคุณค่าของสิ่งใกล้ตัวได้ง่ายขึ้น และสามารถใช้เงินในที่ที่มันควรจะถูกใช้ได้ดีขึ้น โดยยังมีเงินเป็นลูกน้องคอยทำงานให้ แต่มีเวลาเป็นค่าใช้จ่ายหลักในชีวิต ยิ่งเงินทำงานได้เก่งมากเราก็ยิ่งไม่อยากใช้มัน ผมคิดว่าเหมือนเราพยายามพัฒนาลูกน้องมาจนเก่งแล้วก็ไม่อยากไล่เขาออกนั่นเอง ส่วนเวลาในชีวิตในแต่ละวันนั้น คือความมั่งคั่งสุทธิที่ผมสามารถสัมผัสได้อย่างแท้จริงกว่ามาก

การมีอิสรภาพทางการเงินนั้นไม่สามารถทำได้เพียงแค่การมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย แต่เราต้องมีอิสรภาพทางความคิดด้วย เพื่อสามารถจะใช้ชีวิตในแบบที่เรากำหนด (ไม่ใช่ในแบบที่โฆษณาหรือความเป็นส่วนใหญ่มากำหนด) ซึ่งจะทำให้ชีวิตเรายิ่งเป็นอิสระได้ยาก อิสระนั้นไม่ได้หมายความว่าดีกว่าในทุกด้านหากมันเป็นแค่การมี "ทางเลือก" ที่มากกว่า

เงินนั้นไม่สามารถทำงานได้เก่งจนสามารถทำงานแทนเราถ้าเราไม่สอน ดังนั้นเราจะต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเพื่อให้เงินทำงานได้ดีขึ้น การมีอิสรภาพทางการเงินโดยการพึ่งพาเงินหรือความรู้ของผู้อื่นนั้นแม้จะสบายกว่า แต่จะทำให้เราพลาดผลตอบแทนที่ดีที่สุดในการเป็นนักลงทุนไป นั่นคือการฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลานั่นเอง


ถ้าคุณต้องออกจากงานในครั้งหน้า มันอาจจะเป็นของขวัญปลายปีชิ้นที่ดีที่สุดในชีวิตของเรา หรืออาจเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตก็เป็นได้....ใครจะรู้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)