ปฏิกิริยาต่อข่าวร้าย สำรวจใจตัวเองเมื่อหุ้นตก

ปฏิกิริยาต่อข่าวร้าย สำรวจใจตัวเองเมื่อหุ้นตก

Elizabeth Kübler-Ross จิตแพทย์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ได้สรุปปฏิกิริยาของผู้ป่วยที่มีต่อข่าวร้ายออกเป็น 5 ระยะ (ต่อมามีการเพิ่มเติมเป็น 7 ระยะ) ปฏิกิริยาเหล่านี้จะเกิดไปตามลำดับในแต่ละคน ทุกคนต้องผ่านระยะต่างๆนี้เหมือนๆกันแต่เวลาในแต่ละระยะของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพเดิมและประสบการณ์ในอดีต บางคนจะมีระยะเวลาสั้นมากในบางระยะจนอาจไม่สามารถสังเกตได้ หรือบางคนอาจติดอยู่ในขั้นใดขั้นหนึ่งยาวมากก็ได้ และระยะเหล่านี้ยังสามารถย้อนกลับไปใหม่ได้ หากปัญหามีความรุนแรงมากขึ้นหรือมีปัญหาอื่นมารุมเร้า ข่าวร้ายของนักลงทุนคงหนีไม่พ้นข่าวหุ้นกำลังตกหนัก ซ้ำยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปมาสำรวจใจเราเป็นระยะดูซิว่าตอนนี้เราหรือเพื่อนของเรากำลังอยู่ในระยะอะไร จะรู้ได้อย่างไร และสุดท้ายเราควรทำอย่างไรเพื่อให้เหมาะสมกับสถานะการณ์แต่ละระยะ
ระยะแรก ระยะช๊อค 
เมื่อทราบข่าวร้ายที่ไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน เราจะยังสับสนกับข่าวที่ได้มาใหม่นั้นและยังไม่รู้ว่าจะปฏิบัติกับมันอย่างไรดี เราจะหยุดทำทุกอย่างไว้ก่อนเพื่อรับมือกับข่าวร้ายอันนี้ บางคนที่เคยมีประสบการณ์หรือทราบลางบอกเหตุมาก่อนอาจจะไม่มีระยะนี้ ระยะช๊อคของนักลงทุนก็คือระยะเวลาไม่กี่วินาทีหลังจากเปิดหน้าจอแล้วพบว่าราคาหุ้นได้ตกลงมาก ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากนั้นไม่นานเราทุกคนจะเข้าสู่ระยะที่สอง
ระยะที่สอง ระยะปฏิเสธ ระยะนี้เราจะยังไม่เชื่อว่าข่าวร้ายนั้นเป็นความจริงและจะขอคำยืนยันที่ชัดเจนก่อน อาจด้วยการโทรถามเพื่อน คนรู้จัก เจ้าหน้าที่การตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ เว็ปไซด์การลงทุน สิ่งที่เป็นลักษณะที่สังเกตได้ง่ายของระยะนี้คือ เราอยากฟังสิ่งที่เราอยากได้ยิน เช่นเศรษฐกิจดีหุ้นไม่น่าตก หุ้นพื้นฐานดีอย่างนี้ไม่น่าตก มันคงตกไม่นาน ทั้งตัวเรา เพื่อนของเรา ผู้สื่อข่าว หรือนักการเมือง ก็จะพร้อมใจกันพูดสิ่งที่เราอยากได้ยิน ใครที่พูดเรื่องที่เราไม่อยากได้ยินเราจะโกรธเขา อาจถึงกับพูดจาให้เสียหาย บางคนทำตามสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยินนั้นไปจริงๆคือการซื้อหุ้นเพิ่มในระยะนี้ สิ่งที่ปรากฏให้เราเห็นเป็นระยะเมื่อนักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในระยะปฏิเสธก็คือราคาหุ้นที่ดีกลับขึ้นไปบ้างในบางวัน แต่ไม่กี่วันต่อมากลับลดลงกว่าจุดต่ำสุดเดิม บางคนปฏิเสธมันด้วยการไม่เปิดดูราคาหุ้น ไม่ดูข่าวหุ้น ไม่อยากรับรู้ว่ามันเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเขาเหล่านี้มักเก็บความกังวลและความเครียดเอาไว้แม้ไม่ได้ดูมันก็ตาม ระยะปฏิเสธนี้จะดำเนินไปพร้อมกับจำนวนหุ้นที่มากขึ้นเรื่อยๆและเงินสดเหลือที่ลดลง บางคนอาจถึงกับขายสินทรัพย์อื่นๆมาเพื่อให้สิ่งที่ตัวเองคิดไว้นั้นถูกต้อง บางคนก็เลือกอยู่ในระยะปฏิเสธนี้ด้วยการไม่ทำอะไรเลย ระยะปฏิเสธนี้เราจะเห็นมูลค่าการซื้อขายที่ยังสูงอยู่ ราคาแกว่งและผันผวนมาก สังคมรอบข้างจะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ระยะที่สามระยะโกรธ ระยะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราเริ่มจะรับรู้แล้วว่าสิ่งที่เราปฏิเสธนั้นมันไม่น่าจะหนีพ้น น่าจะเป็นจริงขึ้นทุกที ระยะนี้เพื่อนเรา ข่าวในโทรทัศน์ วิทยุ ต่างพร้อมใจกันโทษผู้อื่น เช่นโทษขาใหญ่ โทษต่างชาติ โทษมาร์เก็ตติ้ง โทษนายกรัฐมนตรี โทษตลาดหลักทรัพย์ โทษคนที่ชักชวนมาลงทุน โทษแหล่งข่าวที่แนะนำหุ้นนั้นมา เราจะรู้สึกดีถ้าได้เห็นใครที่เราโทษไว้ถูกลงโทษด้วย นายกอาจโดนปลดเพื่อสังเวยภาวะตลาดในระยะนี้ ภาพที่เห็นคือราคาหุ้นยังคงตกลงต่อไปแต่ปริมาณการซื้อขายเริ่มเบาบาง สวนทางกับเสียงด่าที่ปรากฏดังขึ้นอย่างชัดเจนและตัวเลขการขาดทุนที่มากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นข่าวนักลงทุนถูกบังคับขายหุ้นจากการใช้มาร์จิ้นในช่วงนี้ คนที่แม้ไม่ได้ซื้อหุ้นยังจะได้ยินข่าวในสื่อต่างๆไปด้วย ยิ่งปฏิเสธมันมามาก เมื่อไม่อาจยอมรับมัน เราก็จะโกรธมันมากขึ้นเท่านั้น บางคนอาจแสดงพฤติกรรมโกรธตัวเอง รู้สึกผิด และอยากให้ตัวเองถูกลงโทษ ระยะนี้หากเรามีอารมณ์โกรธ ไม่ว่าจะเป็นผู้อื่นหรือตัวเอง อย่าพยายามปฏิเสธมัน ให้เราระบายกับเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน เมื่ออารมณ์โกรธบรรเทาลง เราจึงจะสามารถผ่านเข้าสู่ระยะต่อไป
ระยะที่สี่ ระยะต่อรอง ระยะนี้จะต้องกินเวลาพอสมควร ยิ่งเคยปฏิเสธมาก่อนหนักเท่าไหร่ เงื่อนไขที่ต่อรองจะไม่สมเหตุผลมากขึ้นเท่านั้น เช่นถ้าหุ้นขึ้นไปเท่าเดิมจึงจะขาย ถ้าไม่ขายก็ยังไม่ขาดทุน ถ้าขาดทุนไม่มากแล้วจึงขาย ถ้าเศรษฐกิจดีก่อนจึงค่อยคิดเรื่องหุ้นใหม่ ช่วงนี้ข่าวต่างๆและผู้คนจะเลิกด่าคนโน้นคนนี้ แต่จะมีคำว่าถ้า... อยู่ทั่วไป ราคาหุ้นจะเริ่มนิ่ง อยู่ในระดับต่ำ ปริมาณการซื้อขายน้อย (ทุกคนก็คอยว่าถ้า... กันอยู่) ตรงกันข้าม นักลงทุนผู้ชาญฉลาดจะเริ่มเข้ามาทยอยเก็บหุ้นในช่วงนี้ ระดับราคาจะถึงจุดต่ำสุดและแนวโน้มราคาเคลื่อนไหวไปด้านข้าง (side way) ส่วนบุคคลธรรมดานั้นไม่มีเงินสดเหลือที่จะซื้อหุ้นเพิ่มในช่วงนี้ ที่มีอยู่บ้างก็ยังขยาดกับการลงทุน ส่วนใหญ่รอข่าวดีที่ชัดเจนก่อน ราคาอาจขึ้นไปได้ทั้งที่ไม่มีข่าวดีอะไร อย่าลืมนะครับว่าการไม่มีข่าวร้ายยิ่งกว่าแล้วนั่นคือข่าวดี
ระยะที่ห้า ระยะเศร้า
ช่วงนี้เป็นระยะซึมของการลงทุน ความเศร้าจะปรากฏให้เห็นโดยทั่วไป คนไม่อยากพูดถึงหุ้น ไม่อยากดูข่าวเศรษฐกิจ ยังคงมีแต่ข่าวไม่ดีมาอีกเรื่อยๆ แต่เป็นที่สังเกตว่าถึงแม้จะมีข่าวร้ายออกมาอีกอย่างไร ก็ไม่สามารถทำให้ราคาหุ้นตกลงไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว ไม่มีใครได้กำไรอยู่เลย ปริมาณการซื้อขายหุ้นเบาบางมาก และมองไม่เห็นว่าเรื่องต่างๆจะดีขึ้นได้อย่างไร เขาลืมไปว่าเรื่องราวทั้งหลายที่ได้พยายามแก้ไขไปในช่วงต้นๆอาจจะกำลังเกิดผลดีในระยะต่อไปได้ แต่เขาได้หมดความหวังและความศรัทธาทั้งหลายไปแล้ว หุ้นที่มีอยู่ในตอนนี้จิตใจจะปรับตัวโดยการหาเหตผลลดความสำคัญมันลงไป เช่น เดี๋ยวก็หาใหม่ได้ มันเป็นเงินไม่มาก ระยะเศร้าจะกินเวลาไม่ควรเกินสามเดือนในคนปกติทั่วไป ก็จะปรับตัวเข้าสู่ระยะต่อไปได้
ระยะที่หกและเจ็ด ระยะทำใจยอมรับได้ และเริ่มการแก้ปัญหาที่สมเหตุสมผล ข่าวต่างๆจะเริ่มพูดกันในเรื่องการแก้ปัญหาต่างๆที่เป็นรูปธรรม มีการตั้งกลไกแก้ปัญหาจะได้เริ่มทำไปแล้วแต่ยังจะไม่บรรลุผล เพื่อนๆคนรอบข้างเราจะเริ่มมามองหาหุ้นคุณค่ากันมากขึ้น เริ่มกล้าถ่ายทอดประสบการณ์ความผิดพลาดของตัวเองที่ผ่านมาให้ผู้อื่นทราบ ระยะนี้ราคาหุ้นจะขึ้นมาได้มากพอสมควรพร้อมกับปริมาณซื้อขายที่เพิ่มขึ้น แต่จะลงไปที่จุดต่ำสุดเดิมได้อีก เพราะบุคคลธรรมดาจะทยอยขายหุ้นที่เคยติดอยู่ได้ในช่วงนี้ เพราะ "รู้สึก" ผิดกับตัวเองลดลงแล้ว และ "รู้สึก" ขาดทุนน้อยลงจากการเปลี่ยนจากการเทียบที่ต้นทุนเดิมที่เคยถือ มาเปรียบเทียบเป็นกับจุดที่เคยต่ำสุดแทน ซึ่งจะทำให้เขาสามารถทำใจให้ยอมรับกับการขายขาดทุนจริงๆได้ เขาจะมีเงินสดมากขึ้นในช่วงนี้ ส่วนหุ้นที่เหลือก็อาจเก็บเอาไว้ ทยอยขายหมูกันต่อไป ปลายระยะนี้จะมีคนเริ่มถือเงินสดกันมากขึ้น ข่าวดีจะยังไม่ปรากฏชัดเจน แต่ราคาจะกลับขยับไปมากขึ้น เนื่องจากปริมาณหุ้นที่ลดลงจากการทยอยซื้อของนักลงทุนผู้ชาญฉลาดในระยะที่แล้ว ผู้คนจะเจอกับข่าวร้าย(อีกครั้ง) ที่ว่าหุ้นที่เพิ่งขายไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ได้ขึ้นไปกว่าจุดที่ตัวเองได้ขายไป ปริมาณการซื้อขายจะเริ่มกลับมาเป็นปกติ นักลงทุนจะเข้าสู่ระยะปฏิเสธและเริ่มต่อรองให้ราคาตกลงมาอีกครั้ง แต่ราคาหุ้นจะเริ่มทำจุดสูงสุดใหม่เรื่อยๆ ข่าวดีจะเริ่มออกมา ทุกคนจะลืมเรื่องร้ายได้อย่างรวดเร็ว อย่าลืมครับว่า เมื่อไม่มีอะไรจะดีไปกว่านี้แล้ว ไม่ต้องรอแล้วครับ นั่นคือข่าวร้ายที่สุดในตลาดหุ้นแล้วครับ 

กฏการลงทุนเมื่อมีข่าวร้าย
1.ขายตัดขาดทุนทันทีหากท่านไม่ได้ซื้อหุ้นที่ต้นทุนต่ำมาก ในระยะที่นักลงทุนอื่นกำลังต่อรอง ระยะที่หุ้นดีดกลับแรงๆครั้งแรกในระยะปฏิเสธจะเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการขายหุ้นออกไป อย่าพยายามทำนายวิกฤตและคิดว่าจะขายได้ก่อน แต่จงปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแทน 
2.เริ่มทยอยซื้อในระยะต่อรอง และมีหุ้นให้มากที่สุดในระยะที่ทุกคนทำใจได้
3.อย่าพยายามขายที่จุดสูงสุดและซื้อที่จุดต่ำสุด นั่นเป็นสาเหตุหลักของความลำเอียงและความยึดมั่นถือมั่นในการคิดของเรา ยิ่งมีอคติมากจะยิ่งโกรธและปฏิเสธที่รุนแรงมาก ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากตาม
4.นำประสบการณ์ทุกครั้งหลังผ่านข่าวร้ายไป ไปปรับปรุง "ใจ" ของท่าน เพื่อปรับให้รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งกับตัวเองและคนรอบข้าง 


ท่านรู้แล้วยังว่าทำไม นักลงทุนชื่อดังทั้งหลายจึงชอบข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)