นักลงทุนหกเหล่า


คนเราแม้ภายนอกนั้นจะดูคล้ายๆกัน แต่ความชอบหรือจิตใจภายในนั้นอาจจะต่างกัน มีความชอบหรือไม่ชอบอะไรที่แตกต่างกัน ประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาก็แตกต่างกัน ดังนั้น แม้สิ่งเดียวกัน ก็อาจจะมองหรือเห็นได้แตกต่างกัน

เวลาเราเป็นนักลงทุนก็เช่นเดียวกัน ทำไมในวันเดียวกัน หุ้นตัวเดียวกัน ที่ราคาเดียวกัน คนๆนึงจึงคิดว่าเป็นจุดที่น่าซื้อ ในขณะที่คนอีกคนนึง กลับคิดว่านี่เป็นจุดที่น่าขาย 

เพราะคนเราคิดต่างกันนี่เอง การซื้อขายจึงเกิดขึ้นได้

ตลาดหุ้นนั้นก็เหมือนตลาดสด คือมีสินค้าให้เลือกมากมาย มีคนเข้ามาซื้อขายมากมาย มีของถูกใจบ้าง ไม่มีของถูกใจบ้าง นักลงทุนก็มีหลากหลาย แยกตามค่ายตามประเภทมากมาย วันนี้ผมก็จะลองไล่ไปมาดูว่า ในสมรภูมิของการลงทุน มีนักลงทุนเหล่าใดกันอยู่บ้าง และท่านถนัดสังกัดอยู่ในเหล่าใด

นักลงทุนพวกแรก ผมขอเรียกว่า นักลงทุนสถาบัน 

นักลงทุนเหล่าแรกนี้ คล้ายๆกับกองทหารที่ถูกฝึกมาอย่างดี เรียนมาโดยเฉพาะ มีขั้นตอนระเบียบวิธีที่ชัดเจน มีวิธีพิจารณาการเข้าลงทุนหรือการออกจากการลงทุนที่ชัดเจน สามารถอธิบายได้ จำนวนเงินที่มีในการลงทุนมีมาก แต่การตัดสินใจอาจไม่รวดเร็วนัก รอบคอบสูง ดังนั้นจึงไม่มีการเคลื่อนไหวของพอร์ทการลงทุนบ่อย แต่ถ้ามีการเคลื่อนไหวแล้ว ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญเสมอ สิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้แปลว่าถูกต้องทุกครั้ง แต่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆได้เกือบทุกครั้ง

นักลงทุนพวกที่สอง ผมขอเรียกว่า พ่อค้า

พ่อค้านั้นมีทั้งค้าส่งและค้าปลีก พ่อค้าส่งผมขอเรียกว่าเจ้ามือรายใหญ่ คือเป็นคนสต๊อกของไว้คราวละมากๆจนให้เกิดความขาดแคลนขึ้น จากนั้นจึงปล่อยข่าวหรือทำวิธีการอื่นใด ให้เกิดความต้องการสินค้านั้นขึ้นมา แล้วจึงกระจายสินค้าไปยังพักพวกที่เป็นพ่อค้าปลีก (โยนหุ้นกันไปมา) เพื่อจำหน่ายให้ “รายย่อย” ในขั้นตอนสุดท้าย สิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้แปลว่าถูกต้องทุกครั้ง แต่จะสามารถสร้างความสนใจให้ “เหยื่อ” ได้เกือบทุกครั้ง


นักลงทุนพวกที่สาม ผมขอเรียกว่า ซามุไรพเนจร

นักลงทุนอิสระเหล่านี้ ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ใช้เงินทุนของตนเอง มีแนวทางเป็นของตนเอง สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง จึงรวดเร็วกว่า บางคนก็มีความสามารถในการลงทุนมากกว่านักลงทุนสถาบันอีก ข้อเสียของซามุไรพเนจรคือ ทุนน้อยกว่า ไม่สามารถทำราคาหุ้นได้เอง จำเป็นต้องอาศัยคนอื่นช่วย ข้อสังเกตคือ พวกเขามักใช้อุดมคติบางอย่างในการลงทุน และมักเป็นอุดมคติของตัวเขาเอง ซึ่งบางครั้งอุดมคตินั้น อาจไม่ใช่เพียงแค่การทำกำไรสูงสุดก็ได้

นักลงทุนพวกที่สี่ ผมขอเรียกว่า เหาฉลาม

นักลงทุนอิสระเหล่านี้ ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด และใช้เงินทุนของตนเองเช่นเดียวกัน แต่ที่แตกต่างไปจากพวกซามุไรพเนจรคือ เขาต้องรู้ว่า “ฉลามคือใคร” และ “จะว่ายไปทางใด” ฉลามนั้นอาจจะเป็น นักลงทุนสถาบัน พ่อค้า หรือผู้มีอิทธิพลเช่น รัฐบาล ผู้คุมกฏ เหาฉลามที่ดี จะต้องติดตั้งเซ็นเซอร์ไว้ทุกจุด ทุกตำแหน่ง ไม่ว่าฉลามจะเคลื่อนไปทางใด เหาจะต้องรู้และจะต้องเกาะไปด้วยให้ได้ 

นักลงทุนพวกที่ห้า ผมขอเรียกว่า จอมยุทธไร้กระบวนท่า

นักลงทุนเหล่านี้มักจะเข้ามาในตลาดหุ้นเพื่อเสี่ยงโชคเป็นหลัก รายได้หลักของเขานั้นอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ มาลงทุนเล่นหุ้นเป็นแค่น้ำจิ้ม ไม่อยากจะต้องศึกษาอะไรให้เป็นเรื่องเป็นราวมากมาย จอมยุทธเหล่านี้ไม่ใช่คนที่ไม่มีกระบวนท่า แต่จะได้ทุกท่าอย่างนิดๆ วิเคราะห์ได้ทุกแบบ โพสตอบได้ทุกกระทู้ หลายกลุ่มอุตสาหกรรม แต่ห้ามถามลึก เขาขอตอบแค่น้ำจิ้มเช่นกัน ถ้าจะถามลึก ต้องไปถามนอกเรื่องการลงทุนซึ่งเป็นงานหลักที่เขาทำได้ดีกว่า ตลาดหุ้นเป็นเพียงแค่สถานที่ของการหลีกเลี่ยงความจำเจในงานหลักของเขา

นักลงทุนพวกที่หก ผมขอเรียกว่า นักสำรวจ 

นักลงทุนกลุ่มนี้ เข้ามาในตลาดหุ้นด้วยความอยากรู้อยากเห็นเป็นหลัก มาด้อมๆมองๆว่าเขาทำอะไรกันบ้าง ตรงโน้นเป็นไง ตรงนี้เป็นไง บางครั้งบริเวณที่สำรวจก็มีการพบน้ำมันบ้าง ทองบ้าง บางครั้งบริเวณที่สำรวจก็พบกลายเป็นจุดที่เรียกว่าดอยบ้างอะไรบ้าง นักสำรวจที่ซุกซนจึงมีของโบราณติดพอร์ทอยู่เป็นจำนวนมากตลอดเวลา จะขายก็ไม่ได้ คุณค่าทางจิตใจมันสูง จะซื้อก็ได้ตัวละน้อย เงินติดอยู่บนดอยเต็มไปหมด

นักลงทุนทั้งหกแบบมีวิธีคิดและการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นรายย่อยอย่างเราๆ จึงควรศึกษากระบวนท่าของคู่ต่อสู้ให้ดีก่อนรวมทั้งสำรวจกระบวนท่าของตัวเราเองด้วย ว่าเราเป็นนักลงทุนพวกใด มีความเชี่ยวชาญอย่างไร และกำลังสู้อยู่กับใคร

แต่ไม่ว่าเราเป็นใคร มีกระบวนท่าเป็นอย่างไร ปัญหาจริงๆมันไม่ได้อยู่ที่คู่ต่อสู้ เพราะศัตรูที่ยิ่งใหญ่ของนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆไม่ใช่ใครที่ว่ามาเลย แต่มันคือ “ตัวเราเอง” ที่เราไม่สามารถจะควบคุมมันได้อย่างใจ ตลอดเวลา

ถ้าหากเรารู้จักตัวเองดีพอ และควบคุมใจตัวเองได้ดีพอ แค่รู้เรา ก็มีโอกาสชนะเกิน 60% แล้ว

หากยังมีเวลาพอ ก็ค่อยไปรู้เขา 

แต่หากรู้ทั้งเขารู้ทั้งเรา ท่านก็จะได้การรบที่มีแต่ชัยชนะ

ขอให้โชคดีครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)