การทำงานของดอกเบี้ยทบต้น



หากท่านตกลงปลงใจอย่างแน่วแน่ที่จะให้เงินมันช่วยทำงานแทนท่านบ้างแล้ว ปัญหาต่อมาของเราก็คือ "แล้วจะให้มันทำงานยังไงล่ะ" เราจะควบคุมให้มันทำงานด้วยตัวเอง หรือว่า จะฝากเงินไปให้คนอื่นช่วยเลี้ยงดี 

ปัญหานี้คนธรรมดาอย่างเราๆนั้นเป็นกันทุกคน เพราะโรงเรียนหรือหลักสูตรที่เราไปเรียนในโรงเรียนนั้น ฝึกเราให้เป็นลูกจ้างที่เชี่ยวชาญในอนาคต เราจึงต้องทำงานด้วยตนเอง บางโรงเรียนนั้นอาจจะดีขึ้นคือสอนวิธีทำเงิน คือเรียนวิธีทำมาหากินไปเลย แต่แทบไม่มีโรงเรียนไหนเลยที่สอนวิธีให้เงินทำงาน ดังนั้นท่านจึงอย่าได้ตกใจเลยว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงยังไม่รู้หรือรู้ไม่มากเกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้แต่การเรียนวิชาบริหารธุรกิจ ก็เป็นไปเพื่อการจัดการธุรกิจเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องการให้เงินไปทำงาน

ผมไม่แน่ใจว่าหลักการที่จะมานำเสนอต่อไปนี้จะยังเป็นวิธีการที่ดีที่สุดต่อไปในอนาคตหรือไม่ แต่ในอดีตจนปัจจุบัน มันได้รับการพิสูจน์แล้วว่า หากท่านอยากให้เงินทำงานให้เกิดประโยชน์กับตัวท่านได้อย่างดีที่สุด การให้มันทำงานผ่านหลักการของ

“ดอกเบี้ยทบต้น” 

นั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุด เท่าที่เรามีในปัจจุบัน

ดอกเบี้ยทบต้นนั้นทำงานอย่างไร

ผมเชื่อแน่ว่าหลายๆท่านคงไม่ชอบวิชาเลข ผมเองก็ไม่ชอบเช่นกัน แต่เนื่องจากสมการของดอกเบี้ยทบต้นใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ง่ายที่สุด ผมคิดว่าไม่น่าเกินความรู้ทางคณิตศาสตร์ของระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ผมจึงคิดว่ามันน่าจะเอามากล่าวถึงไว้ในการวิเคราะห์แล้ว ไม่น่าจะทำให้บทความนี้ยุ่งยากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้

ในการสร้างผลตอบแทนแบบดอกเบี้ยทบต้น 

ผลตอบแทนทั้งหมดที่ได้ = เงินต้นตั้งต้น  x ผลตอบแทนที่ทำได้ต่อปี x จำนวนปีทั้งหมดที่ลงทุน

เมื่อมองเข้าไปในธรรมชาติของสมการ อย่างแรก คือสมการนี้มีเครื่องหมายเป็นตัวคูณทั้งหมด เครื่องหมายคูณในสมการนี้ให้ผลดีอย่างไร

หากท่านลองเอา 2 + 2 + 2 + 2 + 2…. เช่นนี้ไปเรื่อยๆ เทียบกันกับ 2 x 2 x 2 x 2 x 2… ไปเรื่อยๆ การเพิ่มขึ้นของผลบวกในแต่ละปีผลลัพธ์จะช้ากว่าการคูณมาก ในวิธีแรก ห้าปีผ่านไปผลตอบแทนทั้งหมดที่ได้จะ = 10 ในขณะที่ในวิธีที่สองจะได้ = 32 ยิ่งนานไปความแตกต่างของผลตอบแทนทั้งหมดที่ได้ ของทั้งสองสมการนี้ยิ่งรุนแรงขึ้น

สมการผลตอบแทนที่มีเฉพาะเครื่องหมายบวกนั้นคล้ายๆสมการของการทำเงินจากงานของเรา (เงินเดือน) และนักลงทุนบางคนที่ซื้อขายเอากำไรส่วนต่างรายวัน ซื้อหุ้นบางตัวแล้วได้กำไรเป็นครั้งๆ ถึงจำนวนที่เราเอามาบวกกันจะมากอย่างไรก็ตาม แต่เราจะต้องลงมือทำเพิ่มทีละอัน ทีละอัน ไปตลอดชีวิต จะหลับไปไม่ได้ จะเบื่อไม่ได้ จะเลิกไม่ได้ 

ทีนี้เราลองมาเข้าใจธรรมชาติของสมการผลตอบแทนที่มีเฉพาะตัวคูณแบบอนุกรมอย่างวิธีที่สองบ้าง 

ลักษณะอย่างแรกคือ ผลตอบแทนรวมจะถูกกำหนดจากตัวเลขทุกตัวรวมกัน ไม่เฉพาะแต่เพียงตัวใดตัวหนึ่ง เช่น 2 x 3 x 4 = 8 x 3 x1 จะเปลี่ยนตัวเลขหรือสลับที่กันอย่างไรก็ได้ 

การให้เงินทำงานแบบดอกเบี้ยทบต้นนั้น เราจะต้องไม่มองว่าตัวเลขใดสำคัญกว่าอีกตัวเลขอื่นๆที่เหลือ เช่น เราต้องไม่มองว่าผลตอบแทนต่อปีสำคัญกว่าเงินต้น ไม่มองว่าเงินต้นสำคัญกว่าจำนวนปีที่ลงทุน ไม่มองผลตอบแทนรายปีสำคัญกว่าจำนวนปีที่ไปลงทุน เป็นต้น เราควรมองว่าตัวเลขในสมการทุกตัวนั้นสำคัญเท่าเทียมกันหมด เราสามารถเพิ่มตัวไหนได้ก็เพิ่มตัวนั้น เพิ่มตัวนึงไปจนมันชักยากที่จะเพิ่มแล้ว เช่นผลตอบแทนรายปีสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยไปแล้ว เราก็ควรหันไปเพิ่มเงินต้น หรือ จำนวนปีที่ไปลงทุนแทน 

ยกตัวอย่างเช่น คนที่ทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 20% ต่อปีทุกปี 10 ปี มีค่าใกล้เคียงการลงทุนได้แค่ 10% ไป 20 ปี การลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 20% ต่อปีในบางปีนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องง่าย แต่การลงทุนให้ได้ผลตอบแทน 20% ต่อปี "ทบต้น" และ “ทุกปี” นั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย เพราะนั่นหมายความว่าในปีที่ตลาดดี เราต้องทำให้ได้มากกว่า 20% ในขณะที่ปีที่ตลาดไม่ดี เรายังต้องไม่ขาดทุนหรือยังต้องทำกำไรให้ได้ซัก 10% และคำว่าทบต้น ยังหมายถึงเราจะต้องเอา “กำไร” กลับไปลงทุนซ้ำ “ทั้งหมด” และ “ตลอดเวลา” 

จุดสำคัญอีกประการของแนวคิดแบบดอกเบี้ยทบต้นคือ ผลกระทบจากการเอาตัวเลขติดลบเข้ามาในสมการนั้นสูงมากกว่าการบวกเข้าไปรายครั้ง ยิ่งการลงทุนที่ติดลบเกิดขึ้นในปีหลังๆด้วยแล้ว พลังทวีของมันจะยิ่งมีผลกระทบต่อพอร์ทของการลงทุนที่มากขึ้น ตัวเลขเงินต้นของเราตอนเริ่มแรกคงไม่ติดลบ เวลาในการลงทุนก็ไม่สามารถใส่ค่าเป็นลบ ค่าที่สามารถเป็นลบได้มีเพียงตัวเดียวคือผลตอบแทนรายปี ดังนั้นการลงทุนโดยอาศัยแนวคิดนี้หัวใจสำคัญที่สุดคือ 

"อย่าขาดทุน" "อย่าขาดทุน" และ "อย่าขาดทุน"

วอร์เรน บัฟเฟต ลงทุนด้วยเงินต้นที่มากที่สุดที่เขาจะหามาได้ในตอนแรก เขายังเอาเงินญาติๆมาลงทุน ในเวลาต่อมาเขาสามารถเติมเงินต้นของการลงทุนได้อีกเรื่อยๆ ผ่าน float ของบริษัทประกันภัยที่เขาไปซื้อมา ผลตอบแทนรายปีต่อปีระยะยาวของเขาก็สูงที่สุดเท่าที่ผ่านมา บางปีก็น้อยบ้าง บางปีก็มากบ้าง แต่น้อยปีมากที่จะมีการขาดทุนหรือมีเครื่องหมายติดลบ ระยะเวลาลงทุนของเขาก็นานที่สุดเท่าที่มีมาเช่นกัน เขาขายหุ้นบางตัวไปบ้าง ซื้อหุ้นบางตัวเพิ่มบ้าง แต่ยังคงลงทุนใกล้เคียง 100% ของความมั่งคั่งที่เขามีอยู่ตลอดเวลา

สมการดอกเบี้ยทบต้นนี้มีความเป็นกลางเสมอเหมือนกับคนทุกคน คือใครนำไปใช้ก็ได้ผลลัพธ์ที่เหมือนกัน หากตัวเลขที่แทนลงในสมการนั้นมีค่าเท่ากัน หากท่านอยากมีความมั่งคั่งใกล้เคียงกับคนที่รวยที่สุดในโลกคนนี้แล้ว ก็ลองคิดและวางแผนเอาว่าจะทำอย่างไรกับการลงทุนในแบบที่ท่านทำอยู่ในขณะนี้

รูปแบบนั้นไม่สำคัญเท่าความเข้าใจในสิ่งที่ทำ หากท่านเข้าใจถึงหัวใจของสิ่งที่ทำอยู่แล้ว จะดัดแปลงปรับปรุงในส่วนที่ไม่ใช่หัวใจของมันบ้าง มันจะไม่มีผลกระทบกับผลลัพธ์สุดท้ายมากนัก ตรงกันข้าม หากท่านคงไว้เฉพาะรูปแบบ แต่ไม่เข้าใจหัวใจสำคัญ ก็ยากที่จะทำสิ่งนั้นให้ประสบความสำเร็จได้

ดอกเบี้ยทบต้นนั้นมีพลังมากในระยะท้ายๆ เมื่อเงินต้นทบรวมกับกำไรที่ผ่านมา กับประสบการณ์และเวลาที่ทำให้เราแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ ความมั่งคั่งนั้นแทบจะไม่ไปไหนเสีย


"รวยอย่างเต่าตัวใหญ่" ยังไงก็ก้าวได้ไกลกว่า "กระต่ายตัวเล็ก" ที่วิ่งมั่วอยู่ครับ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)