ทำไมหมอและวิศวกรจึงลงทุนได้เก่ง
เคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมวีไอในเมืองไทยหลายคนจึงมีพื้นฐานมาจากวิศวกรและแพทย์ ทั้งที่ในการเรียนการสอนทั้งสองสาขาวิชานี้ ไม่มีเค้าลางในเรื่องของวิชาการลงทุนอยู่เลย
หากใครหลายคนติดตามรายการ Money talk เราจะพบว่า คนรวยที่สุด จบวิศวกรแล้วเรียนต่อสาขาทางการเงิน คนรวยอันดับสอง จบแพทย์แล้วเรียนต่อเฉพาะทางการทำคลอด คนรวยอันดับสาม เป็นอาจารย์สอนด้านธุรกิจและการลงทุน คนรวยอันดับสี่ เป็นนักพูด (ขออภัยล่วงหน้านะครับถ้าผมเข้าใจผิด)
ผมเคยเห็นกระทู้ในพันทิปเคยโพสถามว่า “ถ้าโตขึ้นอยากเป็นวีไอ หนูควรเลือกเรียนสาขาใดดีคะ”
คำตอบมันเห็นๆกันอยู่แล้ว “หนูไปเรียนหมอหรือไม่ก็วิศวกรเถอะจ๊ะ” จบมาแล้วจะได้เป็นวีไอ
แน่นอนว่า หมอหลายคนก็ยังคงเจ๊งหุ้น วิศวกรหลายท่านก็ยังติดดอย ปตท. แต่อย่างน้อยหลายท่านก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงลิ่ว ผมก็มีเพื่อนที่เป็นทั้งแพทย์และวิศวกร ดังนั้น “อะไร?” ที่ทำให้สองอาชีพนี้แตกต่างจากอาชีพอื่นๆ ที่อาจช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จในการลงทุน
อย่างแรก ผมคิดว่าเป็น selective bias
ในประเทศไทย ค่านิยมของสังคมในสมัยผมนั้นนิยมส่งเสริมให้ลูกเรียนแพทย์หรือไม่ก็วิศวกร การแข่งขันเพื่อสอบเข้าสองคณะนี้นั้นสูงลิ่ว ดังนั้นคนสองกลุ่มนี้จึงถูกคัดเลือกมาแล้วว่าเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศ ดังนั้น ไม่ว่าจะเอาเขาไปทำอะไร ก็คงจะอร่อยกว่าปกติ
อย่างที่สอง พวกเขาเรียนสาขาวิชาที่หลากหลายมาก
แพทย์จะต้องเรียนทั้งเคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ระบบการทำงานของร่างกาย แบคทีเรีย พืช ยา รังสี จิตใจ กฏหมาย สังคม ฯลฯ ในขณะที่วิศวกรก็ต้องเรียนทั้งการคำนวณ กฏฟิสิกส์ การประยุกต์ใช้ความรู้ การออกแบบระบบ การควบคุมงาน การวิเคราะห์โครงการ กฏหมาย ฯลฯ ซึ่งจะต่างจากอาชีพอื่นเช่น นักชีววิทยา รู้เฉพาะเรื่องสิ่งมีชีวิตที่ตนศึกษา นักกฏหมาย ที่รู้แต่กฏหมาย นักการเงิน ที่รู้แต่เรื่องเงิน นักการตลาด ที่เรียนเฉพาะการตลาด คนที่เรียนมาหลากหลายกว่า จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากหลายทิศทาง วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปรที่หลากหลายได้มากกว่า และสามารถมองในภาพรวมได้ง่ายกว่า
อย่างที่สาม พวกเขาเป็นนักแก้ปัญหา
แพทย์จะได้รับโจทย์ที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละวันของการปฏิบัติงาน วิศวกรก็ต้องพยายามแก้ปัญหาไม่ซ้ำกันเช่นกัน ดังนั้น เมื่อมาเจอโจทย์ทางการลงทุน พวกเขาจึงน่าจะทำได้ดีกว่า เพราะทักษะในการลงทุนนั้น ไม่ได้ใช้ทักษะในทางใดทางหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องประเมินจากบริบทในหลายๆด้าน และไม่ว่าจะพยายามเช่นไร ก็จะยังต้องทำไปโดยที่ยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในงานนั้นๆเสมอ การเรียนรู้โดยให้แก้ปัญหาเป็นทักษะที่สำคัญของสองอาชีพนี้ ในขณะที่อาชีพอื่นๆอาจเน้นไปในทางการมีความรู้เฉพาะด้านนั้นๆ
อย่างที่สี่ เมื่อจบมาก็ได้ทำงานเป็นหัวหน้าหรือในระดับการจัดการ
แน่นอนว่าทั้งสองอาชีพนี้อาจจะต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อการเลื่อนขั้นอยู่บ้าง แต่ career path นั้นสั้นกว่าอาชีพอื่นๆอย่างชัดเจน เป็นหมอก็เป็นหมออยู่อย่างนั้นตั้งแต่ต้น ไม่มีเจ้านาย มีแต่ต้องคอยกำกับควบคุมทีมให้ทำงานตั้งแต่แรก ดังนั้น จึงได้ฝึกการตัดสินใจด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการตัดสินใจที่ดี ก็เป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งในการลงทุน
อย่างที่ห้า ทั้งสองอาชีพนี้มีฐานเงินเดือนที่สูงตั้งแต่แรก
เงินนั้นมีมูลค่าตามเวลาด้วย เงินที่ได้มาตอนอายุน้อยจะสามารถทวีค่าได้มากกว่าเงินที่ได้มาตอนอายุมาก ดังนั้นถ้าสามารถออมเงินได้มากตั้งแต่อายุน้อย ก็จะสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนมากกว่า
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านคงจะไม่ได้เป็นทั้งแพทย์และวิศวกร ซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นอะไรที่ไม่สำคัญ ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่ว่า เราเรียนรู้ได้อย่างหลากหลายเพียงพอแล้วหรือไม่ เรามีทักษะในการแก้ปัญหาที่ไม่มีคำตอบสำเร็จตายตัวได้ดีหรือไม่ เราสามารถทำสิ่งต่างๆได้อย่างดี โดยไม่ต้องรอให้ใครมาออกคำสั่งหรือไม่ และประการสุดท้าย เราตั้งใจในการออมและมีวินัยในการลงทุนตั้งแต่เราอายุยังน้อยได้หรือไม่
ลองมองหาคนใกล้ตัวหรือหนังสือของคนที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนมาอ่านดูครับ เพื่อจะได้ข้อมูลที่มากขึ้นว่า “อะไร” ที่ทำให้เขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จ
ความสำเร็จนั้นเป็น “โรคติดต่อ” ครับ
เราต้องอยู่ใกล้ๆคนที่ประสบความสำเร็จเข้าไว้
ความคิดเห็น