Business Eco Systems

Business Eco Systems 

วันนี้ผมต้องออกตัวไว้ก่อนว่าเรื่องที่จะเขียนเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ดังนั้นถ้ามันยากเกินไปสำหรับท่านใด ก็ถือซะว่ามีคนส่วนหนึ่งที่กำลังรอบทความแบบที่ยากๆนี้อยู่ 

ความยากของเรื่องนี้อยู่ที่เราจะต้องมีความเข้าใจต่อศาสตร์ 2อย่าง ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันเลย นั่นก็คือ วิชาชีววิทยา ในหมวดของระบบนิเวศน์วิทยา (Ecology) และวิชาการบริหารธุรกิจ (Business administration) หน้าที่ของผมก็คือทำเรื่องนี้ให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด เท่าที่ผมจะทำได้

Ecology คือวิชาที่ศึกษาถึงระบบการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศน์เดียวกัน

ขอยกตัวอย่างระบบนิเวศน์แบบที่ไม่ซับซ้อน เช่นในทุ่งหญ้าแห่งหนึ่ง ที่มีเสือกินวัว และมีวัวกินหญ้า เราจะเรียกว่าระบบนิเวศน์อย่างง่ายนี้ว่า มีหญ้าเป็นผู้ผลิต มีวัวเป็นผู้บริโภคอันดับที่หนึ่ง มีเสือเป็นผู้บริโภคอันดับที่สอง เป็นต้น

ในระบบนิเวศน์นี้ ถ้าหญ้าเจริญงอกงามดี วัวก็จะอ้วนขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น และเสือก็จะอ้วนขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ขึ้น....

ในทางธุรกิจก็มีเรื่องคล้ายๆกันนี้เช่นเดียวกัน

ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย สมมุติให้นักท่องเที่ยวเป็นผู้ผลิต แอร์เอเซียและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นผู้บริโภคอันดับที่หนึ่ง แท็กซี่สนามบินเป็นผู้บริโภคอันดับที่สอง เกสเฮาส์แถวถนนข้าวสารเป็นผู้บริโภคอันดับที่สาม เซเว่นแถวข้าวสารเป็นผู้บริโภคอันดับสี่..... ฯลฯ

ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยนี้ ถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคในลำดับถัดๆมาก็จะมีจำนวนมากขึ้นหรืออ้วนขึ้น เพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ขึ้นเช่นเดียวกันกับวัวและเสือในตัวอย่างแรก

ไม่เพียงแค่ความสัมพันธ์ในรูปแบบของเหยื่อกับผู้ล่าในแบบแรก ในระบบนิเวศน์หนึ่ง จะมีการแย่งชิงอาหารกันในระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างๆกันที่กินอาหารชนิดเดียวกันด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ม้าลาย วัว กวาง กระต่ายป่า จะแย่งชิงอาหารชนิดเดียวกันก็คือหญ้า ดังนั้น ถ้ากระต่ายป่า เกิดมีจำนวนมากขึ้นผิดปกติ เช่นเพราะสุนัขจิ้งจอกถูกมนุษย์ล่าให้หมดไป ม้าลาย วัว และกวางก็จะลดจำนวนลง เพราะขาดแคลนอาหาร

ยกตัวอย่างง่ายๆในธุรกิจการบิน เช่นถ้าแอร์เอเชียมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ อันเนื่องมาจากการได้ fly time slot ที่เพิ่มขึ้นจากการย้ายไปสนามบินดอนเมือง ถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวมีจำนวนเท่าเดิม การบินไทยก็จะถูกแย่งอาหารและลดจำนวนลง 

อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้า airport rail link ให้บริการที่ถี่ขึ้น เร็วขึ้น และราคาถูกกว่าการใช้บริการแท็กซี่สนามบิน แท็กซี่สนามบินก็จะผอมลงหรือลดจำนวนลง เนื่องจากมีผู้ใช้บริการน้อยลง จนเหลือเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีสัมภาระมากที่ไปใช้บริการ

นักลงทุนทุกคนจะต้องทำความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่ตัวเองจะเข้าไปว่า สิ่งมีชีวิตในระบบนั้น หรือบริษัทต่างๆ มีความสัมพันธ์กันในลักษณะใด และเมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งเพิ่มขึ้นหรือลดลง จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆอย่างไร ใครจะได้รับผลกระทบในทางบวกต่อการเปลี่ยนแปลงก็ควรที่จะไปลงทุนในบริษัทนั้น สิ่งมีชีวิตที่เข้มแข็งกว่า เร็วกว่า หรือเลือกอาหารน้อยกว่า ก็ย่อมที่จะมีโอกาสอยู่รอดมากกว่าสิ่งมีชีวิตที่อ่อนแอ เชื่องช้า หรือเลือกอาหารมาก

สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ยาก ก็จะมีลดจำนวนลง และอาจจะสูญพันธ์ ไม่เว้นแม้แต่ไดโนเสาร์ ที่เคยครองโลกมาก่อนเราก็ตาม

องค์กรที่เต็มไปด้วยพนักงานที่อ่อนแอ เชื่องช้า เลือกงาน ก็ย่อมจะถูกแย่งชิงอาหารในไม่ช้า ดังนั้นเราต้องอยู่ให้ห่างจากการลงทุนในบริษัทเหล่านี้

องค์กรที่แหล่งอาหารอันสำคัญกำลังจะเหือดหายไปด้วยการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมนั้นๆ ก็ควรหลีกเลี่ยง

สัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ในทางการลงทุน เราควรหลีกเลี่ยง

การเข้าใจ Business Eco System ในอุตสาหกรรม และการปรับตัวของบริษัทต่างๆในอุตสาหกรรมนั้น จะทำให้เรามองเห็นช่องทางในการลงทุนอยู่เสมอ

วิชาชีววิทยานี่น่าสนุกนะครับ เอาไว้ใช้เข้าใจในการบริหารการลงทุนได้ด้วย


การเป็นนักลงทุนที่ดี จะต้องเชื่อมโยงศาสตร์สาขาต่างๆเข้าหากันให้ได้ในการวิเคราะห์ครับ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)