การลดกระแสเงินสดจ่ายส่วนบุคคล
เศรษฐกิจกระแสเงินสด หรือที่บางคนเรียกว่าเกมกระแสเงินสดนั้น มีหลักการสำคัญคือ กระแสเงินสดจ่าย ต้องน้อยกว่ากระแสเงินสดรับเสมอ ถ้าหากมันไม่เป็นตามนี้ ทรัพย์สินของเราจะค่อยๆหมดลง และเราก็จะล้มละลายในที่สุด
ก่อนที่ผมจะเขียนรายละเอียดในเรื่องนี้ต่อไป ต้องขอแก้ความเข้าใจผิดใหญ่ๆของคนไทย 2 เรื่องก่อนคือ
1.คนมักคิดว่า ถ้ามีรายได้เยอะๆก็จะแปลว่ารวย
จริงๆเรื่องนี้ถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะอีกครึ่งเรื่องคือรายจ่าย เราต้องจัดการไปด้วยกัน
คนที่มีอิสระภาพทางการเงิน ไม่จำเป็นต้องมีรายได้เยอะแยะมากมาย แค่รายจ่ายน้อยกว่ารายได้ที่มีสม่ำเสมอก็พอแล้ว คนที่มีรายได้มากแต่รายจ่ายมากกว่ามีเยอะแยะไป
ครึ่งแรก เราต้องทำให้ได้ก่อน คือการจ่าย น้อยกว่าที่เราหาได้ "เสมอ"
2.คนคิดว่าการประหยัด จะทำให้เราร่ำรวย
จริงๆแล้วการประหยัดเกินงาม ที่เรียกว่าความตระหนี่นั้น กลับจะทำให้คนๆนั้นจนลงด้วยซ้ำ เพราะคนเหล่านี้จะตัดงบลงทุนออกก่อน เช่น การพัฒนาตนเอง การเรียนรู้ การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ การพบปะสังสรรค์เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ ฯลฯ เมื่อทำเช่นนี้แล้ว รายได้ที่ควรเพิ่มในอนาคตตามความสามารถที่เพิ่มขึ้น ก็จะลดลง ไม่สัมพันธ์กับอายุ
บางอย่างเราจ่ายเพิ่ม 1 บาท แต่จะทำให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มได้ 2 บาทในอนาคต เท่ากับกำไร 1 บาท อย่างนี้ เราควรจะจ่าย
รายจ่ายที่ช่วยให้เราได้รายได้เพิ่มขึ้นทีหลังให้เรียกว่า "การลงทุน" ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย
ถ้าใครไม่ลงทุนหรือจ่ายอะไรเลย เราจะเห็นว่า เขาจนลง "โดยเปรียบเทียบ" ในอนาคต เพราะคนที่ใช้จ่ายได้อย่างถูกต้องในอดีต อัตราการเพิ่มของรายได้ จะสูงกว่าอัตราเพิ่มของค่าใช้จ่ายของเขาเสมอ
การลงทุนให้ถูกเรื่อง "ไม่ใช่การประหยัด" ที่จะเปลี่ยนชีวิตทำให้เรารวยได้
ส่วนคำว่าฟุ่มเฟื่อย คือจ่าย 1 บาทวันนี้ แล้วยังต้องเสียอีก 2 บาทในวันพรุ่งนี้ ซื้อรถเป็นต้น
เราเสียเงินแสนวันนี้ เพื่อไปเสียเงินหมื่นในวันพรุ่งนี้ (เว้นแต่จะเอารถไปหารายได้ส่วนเพิ่ม)
อะไรคือความตระหนี่ ประหยัด ลงทุน หรือ ฟุ่มเฟือย มันไม่ได้ดูผลตรงๆ ณ วันนี้
แต่ดูผลกระทบของกระแสเงินสดในวันพรุ่งนี้
หลังจากนี้ เราควรตั้งสติทุกครั้งที่เงินออกจากกระเป๋า หรือรูดบัตร ว่าค่าใช้จ่ายนี่ มันจะสร้างรายได้หรือสร้างรายจ่ายให้เราในอนาคต ? สำคัญมาก จริงๆ
การลดกระแสเงินสดจ่ายต้องไม่ตัดงบลงทุนและไม่เป็นการเบียดเบียนตนเอง
แต่ละคนต้องคิดของตนเองว่าอะไรที่เรียกว่าค่าใช้จ่าย อะไรคือการลงทุน เพราะของชิ้นเดียวกัน ต่างคนก็ไม่เหมือนกัน
ให้ดูที่ผลกระทบต่อกระแสเงินสดในอนาคตของเรา จากการจ่ายซื้อสิ่งนี้ ในวันนี้
และข้อสุดท้าย ข้อที่ 3 ค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันต่างหากล่ะ ที่ทำให้คนไทยยากจน
ค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดฝันคืออะไรบ้าง
คนไทยนั้นไม่ชอบวางแผนรับเรื่องร้าย แต่ชอบบนบานขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครอง พอยกมือไหว้แล้วก็คิดว่าจบ ซึ่งถ้าท่านยุ่งมากจนพลาดพลั้ง ปกป้องเราไม่ได้ "คนไทยคนนั้นก็จะกระเป๋าฉีกทันที"
ไม่ใช่คำว่าโชคร้าย หรือซวย
"มันคือการไม่สนใจจะจัดการชีวิตของตัวเองด้วยตัวเอง"
ไฟไหม้บ้าน น้ำท่วมบ้าน อุบัติเหตุ งานศพ เจ็บป่วยฉุกเฉินร้ายแรง ถูกทำร้าย การเจ็บป่วยในต่างประเทศ ฯลฯ
การซื้อประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยต่างๆ ประกันสุขภาพ ประกันการขาดรายได้ ประกันอิสระภาพ (ในกรณีถูกจับในคดีอาญา) ประกันการถูกฟ้องร้องทางวิชาชีพ ฯลฯ คือสิ่งที่จะปกป้องเราจากการล้มละลาย ขายทรัพย์สิน เมื่อมีเหตุภัยเหล่านี้
เพราะกระแสเงินสดจ่ายที่สูงลิ่ว และกระทันหันเช่นนั้น
ต่อให้รายได้มากแค่ไหน ก็ไม่มีเงินสดไม่พอจ่ายแน่นอนครับ ซื้อประกันพวกนี้ไว้เถอะ มันไม่เคยทำให้ใครจนลงอย่างแน่นอน คนที่จะจนคือคนที่ไม่ซื้อมันต่างๆหาก
ไม่ได้ขายประกันนะ แต่เห็นมาเยอะแล้ว
สรุปหลักการควบคุมกระแสเงินสดจ่าย
1.จ่ายน้อยกว่าที่หาได้
2.ใช้จ่ายให้เป็นการลงทุน
3.ห้ามมีลุ้น ให้ซื้อประกัน
แค่นี้เราก็ชนะในครึ่งแรกแล้วครับ
ครึ่งหลัง หลักการเพิ่มรายได้ เราค่อยว่ากันอีกที
ความคิดเห็น