ความเท่าเทียม...ไม่มีจริง


ความเท่าเทียมนั้น เป็นสิ่งที่ปรารถนาลึกๆในใจของมนุษย์ทุกคน

มนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม และในสังคมของสัตว์ทุกชนิดนั้นมีสิ่งที่เรียกว่าลำดับชั้นอยู่ ลำดับชั้นนั้นไม่ได้มีไว้ทำโก้แก๋ แต่เป็นสิ่งที่กำหนดทั้งสิทธิและหน้าที่ของสัตว์แต่ละตัวในฝูง

หมายความว่าถ้าสัตว์ตัวนั้น มีลำดับชั้นในฝูงสูง หน้าที่ความรับผิดชอบในฝูง ก็จะสูงมากขึ้นไปด้วย

การที่สัตว์สังคมจะยกตำแหน่งลำดับสูงๆให้กับใครหรือคนใด สัตว์ตัวนั้นจะต้องแสดงความสามารถให้ทั้งฝูงได้ประจักษ์กันเสียก่อน ไม่เช่นนั้น ก็จะต้องคงลำดับต่างๆไว้ตามเดิม 

ลำดับในฝูง กำหนดตามความสามารถ ไม่เสมอไปที่จะเป็นไปตามอายุ เพศก็มีความสำคัญ เพราะลำดับที่สูงขึ้น ชีวิตก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ถ้าคุณเกลียดใครก็เลื่อนตำแหน่งให้คนๆนั้น

การเป็นสัตว์สังคมนั้น ระบบไม่สามารถทำให้สัตว์ที่เป็นสมาชิกทุกตัวเท่าเทียมในสิทธิและหน้าที่ได้ เพราะประโยชน์ของการอยู่เป็นฝูง คือการแบ่งงานกันทำ และการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาไปเฉพาะด้านของสมาชิกในสังคม แล้วทุกคนก็นำผลของงานนั้น มาเป็นผลงานของส่วนรวม 

งานบางงานแม้จะดูว่าผู้นำนั้นสำคัญมาก แต่จริงๆแล้วงานนั้นจะดีได้ ก็ต้องอาศัยสมาชิกทุกคนนั่นแหละที่ต้องช่วยกันทำ แล้วก็สมาชิกนั่นแหละ ที่จะได้รับประโยชน์

การที่มนุษย์ปรารถนาความเท่าเทียมนั้น คือปรารถนาที่จะได้มีสิทธิในการแสดงความสามารถให้ประจักษ์ เพื่อที่จะได้เลื่อนลำดับขั้น และอย่างที่กล่าวไป ลำดับขั้นที่ได้รับนั้น มิใช่รางวัลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงภาระที่จะเพิ่มขึ้น

ถ้าไม่ว่าใครจะทำอะไร หรือพยายามไปแค่ไหน แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่เท่าเทียมกัน หากกลุ่มสังคมใดนำข้อกำหนดนี้ไปใช้ ก็จะล้าหลังกลุ่มสังคมที่ยึดหลัก ที่เน้นการตอบแทนบุคคลตามผลงานที่ทำมาในทันที เพราะระบบที่ทุกคนเท่าเทียมกันในผลลัพธ์โดยไม่คำนึงถึงเหตุ จะเกิดสิ่งที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "free rider" หรือแปลง่ายๆว่า พวกมือไม่พาย ได้แต่อาศัยเขาพาไป คนที่ขยันขันแข็งก็จะค่อยๆปรับตัวทำงานลดลงไปในที่สุด

ความเท่าเทียม บางคนไปใช้ถึงความเท่าเทียมกันของผลลัพธ์ เช่น คนทุกคนต้องรวยจนเท่าๆกัน คนทุกคนต้องมีรายได้เท่าๆกัน เกรดต้องดีเหมือนๆกัน สมัครงานแล้วต้องได้งานเหมือนๆกัน ลงทุนแล้วต้องได้ผลตอบแทนเท่าๆกัน ฯลฯ โดยไม่ต้องสนใจว่าความทุ่มเทที่ผ่านมา มากน้อยเพียงใด

พระพุทธเจ้าก็ยังทราบและแสดงให้เห็นธรรมชาติในเรื่องนี้ ท่านให้สิทธิให้ทุกคนได้บวช ทั้งชายหญิง เด็ก คนแก่ ในทุกวรรณะ แต่การที่เขาเหล่านั้นจะบรรลุธรรมขั้นสูงได้หรือไม่ ท่านไม่สามารถที่จะรับประกันได้ 

อย่าแปลความหมายของความเท่าเทียมผิดพลาด กลายไปเป็นความอยากได้ อยากมี อยากเป็น เหมือนคนอื่นเขา แต่ชีวิตนั้น แค่ทำๆไปพอให้เป็นพิธี

ตลาดทุนนั้น เป็นที่พิเศษที่ให้สิทธิแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ในการปกป้องหรือเพิ่มพูนความมั่งคั่ง ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง เด็กหรือคนแก่ รวยหรือจน จบปริญญามาหรือไม่ พ่อแม่จะเป็นใคร คนไทยหรือต่างชาติ ในทุกศาสนา และความเชื่อ

ในเมื่อคุณมีสิทธิในการเข้าถึงแล้ว 


ทำมันให้เต็มที่ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)