สามฐานของความมั่งคั่ง

สามฐานของความมั่งคั่ง

Value investor นั้นเป็นเทคนิคทางการลงทุนที่ต้องอาศัยความสามารถในการมองอนาคตเทียบกับคุณลักษณะของมันในปัจจุบัน และการประเมินค่าของสินทรัพย์ที่เราจะซื้อในราคาปัจจุบันเทียบกับมูลค่าของมันที่จะมีในอนาคต

เรื่องนี้เป็นหลักการสำคัญที่พูดง่ายแต่ทำยาก ทั้งนี้เพราะการมองอนาคตให้ออกนั้นไม่ง่าย และราคาปัจจุบันก็มักจะสะท้อนราคาในอนาคตไปแล้วบางส่วน ยิ่งในปัจจุบันที่ประเทศของเรามีนักลงทุนแนววีไอกันเป็นจำนวนมาก การที่ มีคนจำนวนมากกำลังคอยสอดส่องหาช่องว่างระหว่างราคาปัจจุบันและมูลค่าที่แท้จริงอยู่เสมอ ทำให้การที่นักลงทุนหน้าใหม่ๆจะสามารถทำกำไรจากความไม่มีประสิทธิภาพของตลาดทุนในง่ของข้อมูลข่าวสารนั้น มีแนวโน้มที่ลดลง หุ้นในตลาดที่ทั้งราคาถูกและคุณภาพดีมีไม่มากเหมือน 10 ปีก่อนแล้ว

แล้วหลักการของวีไอยังจะสามารถใช้ในตลาดหุ้นไทยต่อไปได้อีกหรือไม่

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ผมอยากจะขอทบทวนความรู้พื้นฐานของการประเมินมูลค่า ซึ่งเป็นหัวใจของการลงทุนแนววีไอก่อนนะครัช ว่า เรามีแนวทางในการประเมินมูลค่าสินทรัพย์นั้นอย่างไรบ้าง

แนวทางแรก เรียกว่า แนวทางสินทรัพย์สุทธิ คือเราประเมินมูลค่าสินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท ทั้งที่มีตัวตน ทั้งที่ไม่มีตัวตน ทั้งที่มีสภาพคล่องสูง และสภาพคล่องต่ำ ที่สามารถนำออกขายได้  หักค่าเสื่อมราคา และส่วนเผื่อความปลอดภัยไว้ แล้วเทียบกับราคา market cap ของบริษัทนั้นๆ ถ้าราคาที่มาเสนอขายได้ประมาณ 50% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่เราประเมินได้ ก็น่าจะปลอดภัยมากขึ้นในการลงทุน ข้อเสียของวิธีนี้คือกับดักสภาพคล่อง เพราะหุ้นเหล่านี้มักจะขายทรัพย์สินออกไปในราคาดีได้ไม่ง่ายนัก การประเมินมูลค่าทรัพย์สินก็ทำได้ไม่ง่ายนัก

แนวทางที่สอง เรียกว่า แนวทางกระแสเงินสด คือเราประเมินกระแสเงินสดรับสุทธิของบริษัท จากปัจจุบันถึงอนาคต แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยต่อปี แล้วซื้อบริษัทนั้นตามระยะเวลาคืนทุนที่เราพอใจ วิธีนี้ง่ายกว่า แต่มีความยากตรงความแน่นอนของกระแสเงินสดที่ว่านี้ว่าจะเป็นไปตามสมมุติฐานเราไปได้นานเท่าใด

แนวทางที่สาม เรียกว่า มูลค่าทดแทน คือเราประเมินมูลค่าธุรกิจทั้งหมดของบริษัทว่า ถ้าเราต้องสร้างบริษัทนี้ขึ้นมาใหม่ทั้งหมดในปัจจุบัน โดยมีทั้งสินทรัพย์ ตราสินค้า ฐานลูกค้า ความนิยม พันธมิตรต่างๆ เช่นที่เรามีในปัจจุบัน เราจะต้องใช้เงินไปเท่าใด และ market cap ของบริษัทในขณะนี้ เป็นเท่าใด วิธีการนี้ค่อนข้างยากอีกเช่นกัน มักจะใช้ในตอนที่บริษัทจะซื้อกิจการของบริษัทอื่นมาทั้งหมด

หลักการทั้งหมดนี้ยังคงใช้ได้ครับ แต่เราอาจจะต้องทำงานในส่วนที่ยากมากขึ้น จึงจะสามารถเอาชนะนักลงทุนท่านอื่นๆได้ ส่วนที่ยากในที่นี้คือ วิธีการที่หนึ่ง และสาม ซึ่งผมมักจะต้องลงไปคุ้ยถังขยะ ไปดูงบการเงินของบริษัทที่เน่าๆหรือเล็กๆที่คนมองข้าม  เพื่อนำมาคัดแยกดูว่า มูลค่าที่แท้จริงของบริษัทนี้มันเป็นเท่าใด สำหรับการวิเคราะห์กระแสเงินสดนั้น ยังคงสามารถใช้ได้อยู่ แต่ส่วนต่างในการทำกำไรนั้นเหลือน้อย ทั้งนี้เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ หันมาใช้วิธีนี้กันหมดแล้ว

ความสามารถในการแยกหินออกจากทองคือความสามารถของวีไอที่ประสบความสำเร็จทุกคนครับ

และเมื่อคุณมีความสามารถที่จะมองเห็นทองที่ซ่อนอยู่ในก้อนหินแล้ว คุณก็จะสามารถจ่ายในราคาของก้อนหิน

แต่ได้มูลค่าในราคาทองคำครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)