หนังสือเปลี่ยนชีวิต



นิสัยที่ดีอย่างหนึ่งของผมคือการรักการอ่าน เท่าที่จำได้คือผมรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก หนังสือทุกเล่มในบ้านจะถูกผมอ่านจนเกลี้ยงเสมอ พอโตขึ้นมาก็อ่านหนังสือในห้องสมุด สำหรับหนังสือเรียนแค่ไม่กี่เล่ม ไม่เพียงพอต่อการหิวความรู้ของผมแน่นอน ตอนนี้พอไม่ถูกบังคับให้อ่านอะไรแล้ว ผมก็ยิ่งสนุกกับการอ่าน ไม่ใช่การอ่านเพื่อไปทำข้อสอบเหมือนอย่างเคย แต่เป็นการอ่านเพื่อที่จะนำความรู้ที่ได้ ไปแก้ปัญหาสำคัญในด้านต่างๆของชีวิต

การอ่านนั้น สำหรับผมแล้ว คำจำกัดความของมันมีแค่สั้นๆง่ายๆนั่นคือ “ความสามารถพิเศษของมนุษย์ ที่สามารถเรียนรู้โลก ผ่านสายตาของบุคคลอื่นได้”

หนังสือที่ดีนั้นมีมากมายหลายเล่ม สำหรับเรื่องของการลงทุน หนังสือดีนั้นก็มีมากมายหลายเล่ม แต่มีเพียงสองเล่มที่ผมพอจะเรียกมันได้ว่า “หนังสือเปลี่ยนชีวิต”

เล่มแรก ผมไปเจอมันที่ห้องสมุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอนแรกดูหน้าปก ก็ไม่ได้น่าสนใจอะไร มันถูกวางอยู่ในชั้นหนังสือ รวมอยู่กับหนังสือภาษาไทยอื่นๆที่เกี่ยวกับการลงทุน โชคดีที่หนังสือภาษาไทยในตอนนั้นมีไม่มาก ที่เขียนได้ดีก็น้อยมากๆลงไปอีก ในตอนนั้นเป็นปี 2546 หลังวิกฤตเศรษฐกิจการเผาจริงมาได้ประมาณ 5 ปี ตอนนั้นยังไม่มีใครคิดว่าเราจะใช้คืนเงินกู้ไอเอ็มเอฟได้ ในตอนนั้น ใครจะถอนเงินฝากที่ได้ดอกเบี้ยดี แล้วมาเสี่ยงกับการซื้อหุ้น ผมไม่อยากจินตนาการถึงว่า จะโดนสังคมประนามว่าอย่างไร

ดังนั้นถ้าไม่ได้อ่าน “ตีแตก กลยุทธ์การเล่นหุ้นในภาวะวิกฤต”

ผมจะไม่กล้าซื้อหุ้นแบบที่เรียกว่า “วีไอ” ชุดแรกของผมเป็นอันขาด และก็ไม่กล้า “ตีแตก” ตามชื่อหนังสือด้วย

ในตอนนั้นปกหนังสือไม่มีรูปอาจารย์นิเวศน์ ไม่มีใครรู้ว่าอาจารย์นิเวศน์คือใคร และการลงทุนแนวนี้จะประสบความสำเร็จจริงหรือไม่ แต่เพราะในตอนนั้นหรือแม้แต่ตอนนี้ “การที่มีหุ้นที่สามารถทนต่อวิกฤตต่างๆได้” กลายมาเป็นกระแสในความนิยม โลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากเหลือเกินหลังปี 2000 เป็นต้นมา ดังนั้น “แค่ทนได้” หรือ “ปรับตัวได้” ก็กลายเป็นผู้ชนะได้ ในหลายๆกรณี

หลังจากลงทุนในแบบสู้วิกฤตมาได้อีกระยะ ก็เริ่มจะเห็นเนื้อหนังของการประสบความสำเร็จขึ้นมาบ้าง ระยะต่อมาเศรษฐกิจโลกและไทยเริ่มเบ่งบานเต็มที่ PTT BANPU TTA วิ่งนำดัชนีเป็นเวลาอยู่หลายปี คาถาภูมิคุ้มกันที่ผมมีคือ “ไม่ลงทุนธุรกิจที่ผมไม่เข้าใจ” เพราะไม่ว่าผมจะอ่านหนังสือเพิ่มเติมเท่าไร ก็ยังไม่สามารถหาวิธีทำนายราคาน้ำมัน ถ่านหิน ค่าระวางเรือ ในอนาคตได้อยู่ดี เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ 2008 นอกจากภูมิคุ้มกันจากหนังสือเล่มแรกได้ช่วยไว้แล้ว มันก็ได้เวลาหนังสือเล่มที่สองทำงานแบบพอดี

หนังสือเปลี่ยนชีวิตเล่มที่สองของผมคือ “คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก”

https://www.se-ed.com/product/คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก.aspx?no=9789745345003

หนังสือเล่มนี้มีคุณูปการต่อชีวิตผมมากกว่าเล่มใดๆที่เคยมีมา เพราะเป็นการ “พลิกมุมคิด” ที่สามารถช่วยให้ผู้อ่าน รวมถึงผมเอง สามารถนำศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่มาใช้ได้มากที่สุด ถ้าจะเปรียบเปรยให้เข้าใจง่ายๆก็คงเหมือนกับรถยนต์

จริงๆรถยนต์ของคนไทยหรือฝรั่งนั้นต่างกันไม่มาก แต่ต่างกันที่คนขับ คนขับไทยนั้น จ้องจะเหยียบเบรครถตนเอง (และผู้อื่น) ตลอดเวลา ชิดซ้ายเป็นนิสัย ไม่กล้าแซง กลัวและคิดถึงแต่ความผิดพลาด ใครประสบความสำเร็จก็ไม่ไปเข้าพวก จับกลุ่มกันอยู่ในโลกใบเดิมตลอดเวลา อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมจึงกล้าแซงในยามที่ควรแซง กล้าเร่งในเวลาที่ควรเร่ง กล้าที่จะกำหนดเป้าหมายใหม่ และกล้าที่จะไปคลุกคลีกับคนที่ประสบความสำเร็จ

ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือเปลี่ยนชีวิตผมทั้งสองเล่มจะมาจากคนๆเดียวกัน

ดังนั้นในฐานะผู้อ่าน ผมจึงขอในหน้าของบทความนี้ ในการแสดงความขอบคุณในความเมตตาของอาจารย์นิเวศน์ ที่ได้ช่วยชี้ทางสว่างแก่ผม และสังคมไทย ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา

เหนือสิ่งอื่นใด (วลีที่อาจารย์นิเวศน์ชอบใช้) อยากให้ “เด็กไทย” หรือ “คนไทย” ทุกคนได้อ่านหนังสือของอาจารย์ เพราะแม้ว่าเราจะเปลี่ยนความคิดของคนรุ่นเดิมไม่ได้ แต่เราพอจะเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเราหรือคนรุ่นใหม่ๆได้ ผมคิดว่าคนไทยคงจะต้องหันมาคิดเรื่อง “การส่งไม้ให้คนรุ่นถัดไป” ให้มากขึ้น เพราะการพัฒนาประเทศนั้น เหมือนการวิ่งผลัด ไม่ใช่วิ่งร้อยเมตร

บรรพบุรุษเราวิ่งกันมาได้ไกลแล้ว มองคู่แข่งที่อยู่ข้างหน้า วิ่งให้เต็มที่

แล้วก็ส่งไม้ “อย่างดีที่สุด” ครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)