Roll over effect



เคยสงสัยมั้ยครับว่า ทำไมคนที่รวยที่สุดในการจัดอันดับเศรษฐี ไม่เคยมี trader ปะปนอยู่เลย ถ้าจะมีก็เป็นช่วงใดช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นก็ดูเหมือนว่า เขาจะหายหน้าหายตาไป

ผมเองก็สงสัยครับ แล้วก็ไม่ทราบว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อันที่จริง ถ้าเราว่ากันตามระบบเหตุผล การเป็น trader มันเหมือนจะเป็นอะไรที่ดีมาก เพราะไม่ต้องอาศัยเงินทุนมาก สามารถใช้ leverage ได้ กำไรวิ่งก็ปล่อยไป ขาดทุนก็ตัดขาดทุน มันเป็นอะไรที่ “ง่าย” “เร็ว” “ดี”

ถ้าถามผมว่า อะไรที่ทำให้นักลงทุนมีผลงานที่ดีกว่า ในระยะยาว ผมจะตอบว่า เพราะนักลงทุนมีตัวช่วยครับ นักลงทุนมีตัวช่วยพิเศษอย่างไรบ้าง เรามาลองดูกันได้เลย

ตัวช่วยแรกที่ผมชอบใช้ เรียกว่า No time frame effect ซึ่งผมแปลเอาเองว่า “การเข้าแข่งที่กรรมการเข้าข้าง”

จะดีมั้ยครับถ้าเวลาเราเชียร์ฟุตบอล ถ้าทีมที่เราเชียร์แพ้อยู่ เวลาการแข่งขันจะเดินไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ทีมของเรายิงประตูนำไปได้ ผู้ตัดสินจะเป่านกหวีดให้หมดเวลาทันที

No time frame ของนักลงทุน คล้ายๆไม่ขายขาดทุนก็ไม่ขาดทุน ขายตอนกำไร 100% ก็ได้กำไร 100% (จิงมะ) ซึ่งจะทำให้เราลดงานของการที่ต้องมากะเก็งช่วงเวลาเข้าหรือออกจากการลงทุนได้ ได้ 100% เมื่อไหร่ก็ออกเมื่อนั้น ไม่จำกัดเวลาตัวเอง ถ้าเราหาเจอบริษัทที่สามารถทำกำไรโต (growth) หรือกลับมา (turn around) ได้มากพอ เช่น 100% No time frame effect จะใช้ได้ทันที เพราะ 100% แม้ให้รอไป 10 ปี ก็ยังได้กำไรแบบชิวๆที่ 10% ต่อปี ซึ่งค่าเฉลี่ยในการรอของผมส่วนใหญ่อยู่ที่สามปี นั่นแปลว่า กำไรโดยเฉลี่ยของผมสามารถทำได้ที่ 33% ต่อปีแบบชิวๆ (เห็นมะ ง่ายจะตาย)

ตัวช่วยตัวที่สองที่ผมชอบใช้ เรียกว่า Roll over effect ซึ่งผมแปลเอาเองว่า “ยิ่งทนรวยก็ยิ่งรวย”

Roll over effect ทำงานอย่างนี้ครับ สมมุติให้กำไรกับราคาหุ้นของบริษัทมีความสัมพันธ์เท่าเดิมไปตลอดคือ PE ratio = 10 ไปตลอด ปีแรกไปปีที่สอง สมมุติกำไรโต 20% เริ่มจากกำไร 10บาท/หุ้น ไปเป็น 12 บาทต่อหุ้น เมื่อผ่านไปในปีที่ 10 กำไรของบริษัทจะกลายเป็น 61.91 บาทต่อหุ้น และเมื่อโต 20% จะเป็น 74.3 บาทต่อหุ้น ในปีที่ 10 กำไรจะโต = 12.39 บาท ซึ่งก็คือ 123% ต่อปีเมื่อเทียบกับต้นทุนเราที่ 10 บาทหุ้น ในหนึ่งปี 

ตัวช่วยที่สาม เรียกว่า MM effect ผมซึ่งแปลเอาเองว่า “ใครยิงได้ ก็ยิ่งจ่ายบอลให้คนนั้น”

จากวิธีแรก เมื่อเราคัดเลือกหุ้นมาได้ เราไม่มีทางรู้หรอกว่า ตัวไหนที่สามารถจะทำ 100% ได้ตามที่เราคิดไว้ ในขั้นแรกผมก็จะพยายามใช้ความสามารถสูงสุดเท่าที่ทำได้ก่อน เช่นปีนี้ได้มา 4 ตัว เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เช่นสอง สาม หรือสี่ ไตรมาส หนึ่งในสี่ สองในสี่ หรือสามในสี่ จะแสดงตัวออกมาเองว่าใครที่สามารถทำผลงานการเติบโตของกำไรได้ดีกว่า มีอุปสรรคน้อยกว่า หรืออนาคตดูดีกว่า ผมก็จะไม่ซื่อบื้อถือหุ้นทั้งสี่ตัวในอัตราส่วนที่เท่าๆกันไปเหมือนเดิม ผมจะใช้วิธีซื้อหุ้นที่ทำได้ดีกว่าเพิ่มเติม ถ้าจำเป็นจริงๆก็ขายหุ้นที่แย่กว่า เพื่อให้สัดส่วนเดิมพันเปลี่ยนไป เช่นสมมุติ เดิม 25% + 25% + 25% + 25% ไปเป็น สมมุติ 40% + 25% + 25% + 10% เป็นต้น

เริ่มจากพื้นฐานในการเลือกหุ้น รวมกับ ตัวช่วยที่สาม ใครยิงได้ ก็ยิ่งจ่ายบอลให้คนนั้น รวมกับ การเข้าแข่งที่กรรมการเข้าข้าง รวมกับ ยิ่งทนรวยก็ยิ่งรวย ให้มันรู้ไปเลยว่า 


ทำแบบนี้ได้ แล้วใครจะไม่รวย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)