วิธีสร้างทีมเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน


ถ้าจะเปรียบเรื่องการลงทุนให้เหมือนกับเกมกีฬา การลงทุนนั้นเราอาจจะจัดสรรเงินลงทุนของเราให้เป็นเกมที่มีผู้เล่นคนเดียวหรือเกมที่มีผู้เล่นหลายคนเล่นร่วมกันเป็นทีมก็ได้ ถ้าเรามีผู้เล่นที่เก่งมากและไว้ใจได้อยู่เพียงหนึ่งคน เราก็อาจจัดสรรเงินลงทุนไปให้กับผู้เล่นคนนี้คนเดียวไปเลย แต่ในสถานะการณ์โดยส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ การลงทุนนั้นมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนโดยธรรมชาติ การพึ่งพาหรือฝากอนาคตไว้กับฝีมือของผู้เล่นเพียงคนเดียวนั้น อาจจะทำให้เงินลงทุนของเราตกอยู่ในสถานะของการต้องแบกรับความเสี่ยงที่มากเกินไป การสร้างพอร์ทการลงทุนขึ้นมาเป็นทีมคล้ายๆกับทีมฟุตบอล จะสามารถให้การลงทุนของเรามีความลื่นไหล ปรับตัวได้ ทั้งในสภาวะตลาดที่ดีหรือไม่ดี

การสร้างทีมการลงทุนเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติกันได้ยาก ผมคิดว่าคงเป็นความรู้ขั้นกลางไม่ใช่ขั้นต้น แต่เพื่อที่จะทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น ขอให้ลองจินตนาการว่าตัวเองเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลหรือโค้ช ไม่ใช่ผู้เล่น และจะไม่ลงไปเล่นด้วยตนเอง

การบริหารทีมฟุตบอลที่ดีไม่ใช่แค่การมีเงิน ถ้าเรามีเงินไปซื้อแต่นักแตะที่เก่งแต่บุก พอตอนโดนโต้กลับก็จะทำให้เสียประตู หรือการใช้เงินซื้อตัวผู้เล่นเก่งๆมาอย่างเดียวแม้จะทำให้ผลการแข่งขันของทีมดีขึ้น แต่ผลทางการเงินของทีมห่วยลงมาก เพราะค่าตัวกับ performance ของนักแตะ อาจไม่สัมพันธ์กัน ในการลงทุนทุกแนว โดยเฉพาะในแนว value investment จะให้ความสำคัญระหว่างเงินที่จ่ายไปกับ performance ที่นักแตะทำได้เสมอ เก่งอย่างเดียวยังไม่พอ PE ต้องคุ้มค่าด้วย

Performance ของนักแตะขึ้นอยู่กับปัจจัยสองอย่างคือ ความสามารถส่วนตัว และ ความสามารถเมื่อไปเล่นร่วมกับทีม


ถ้าเรามองผิด ไปซื้อนักแตะที่ผลงานแย่เข้ามาร่วมทีม เราก็ควรจะแก้ผลงานในระยะสั้นให้ดีขึ้น โดยการให้นักแตะคนนั้นงดการลงแข่ง หรือให้เล่นแต่เว้นการส่งลูกไปให้ ก็จะสามารถช่วยประคองกันให้ทีมเราไปรอดได้ หุ้นหรือบริษัทที่ performance ไม่ดีสองไตรมาสติดกัน โดยไม่ได้เกิดจากสถานการณ์ภายนอก เราควรลดจำนวนหุ้นที่ถือครองลง หรือถ้าแน่ใจแล้วก็ขายนักแตะคนนั้นออกไปเลย

ถ้าเรามองถูก ไปซื้อนักแตะที่ฝีมือดีเข้ามาร่วมทีมจนได้ เราก็ควรจะสนับสนุนนักแตะคนนั้นให้มีบทบาทสำคัญขึ้นในทีม ให้ลงแข่งบ่อยๆ ให้ผู้เล่นในทีมส่งลูกไปให้มากๆ แม้เราจะมีผู้เล่นที่ดีเพียงคนเดียว ผลงานรวมของทีมก็จะดีขึ้น

ยกตัวอย่างให้ละเอียดขึ้น ถ้าทีมฟุตบอลมี 11 คน ทีมการลงทุนของเราสมมุติให้มี 11 คน เหมือนกัน


ถ้า 10คนแรกคือผู้เล่นจริง 1 ตัวให้เป็นตัวสำรอง portfolio ของเราที่เลียนแบบทีมฟุตบอลนั้น เงินลงทุน 100% เราจะแบ่งเป็นตัวๆก็จะได้ตัวละ 10%

พอร์ทการลงทุนที่ดี ไม่ควรมีการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนที่มากเกินไป ผมคิดว่าสิบตัวนั้นเพียงพอแล้วสำหรับการกระจายความเสี่ยงที่ดี ถ้าเราจะเอาตัวที่ 11 เข้ามา ใครบางคนจะต้องออกไป

ใน 10 ตัวเราจะต้องให้น้ำหนักหรือความสำคัญในเกมที่ไม่เท่ากัน ใครที่เราชัวร์มากเราก็ให้เล่นเพิ่มขึ้นสองเท่า จัดสรรเงินลงทุนให้เป็น 20% ของเงินที่เรามี ผู้เล่น 9 คน ที่เหลือให้คนละเท่าไร ก็แล้วแต่ความมั่นใจของเรา

ผู้จัดการทีมที่ดีจะต้อง “ให้ผู้เล่นที่ performance ดีที่สุด ได้เล่นในตำแหน่งที่สำคัญที่สุดเสมอ” เช่นถ้าเราคิดว่าหุ้น ABC จะ performance ดีเยี่ยมในห้าปีถัดไป ก็อาจจะจัดเต็มไปเลย 5 ตำแหน่ง 50% ที่เหลือให้ 10% บ้าง 5% บ้าง ผลตอบแทนจะสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับการกระจายการลงทุนเป็น 10% เท่ากันหมด

ถ้าเรามีผู้เล่นดีพร้อมกับมีตำแหน่งสำคัญในทีม เราไม่ต้องกังวลกับผลงานของผู้เล่นคนอื่นในทีมมากนัก เพราะเราให้การถ่วงน้ำหนัก (weight) มากกับสิ่งใด ผลตอบแทนรวมจะเข้าใกล้ผลตอบแทนของสิ่งนั้น


สิ่งนี้ไม่ใช่เฉพาะการมองแต่การลงทุนในหุ้นเท่านั้น สมมุติว่าเงินลงทุนส่วนใหญ่ 90% ลงทุนบ้านที่ใช้อาศัยอยู่ แม้เงิน 10% จากการลงทุนในหุ้นจะได้กำไรดี แต่เมื่อมันถูกถ่วงน้ำหนักน้อยแล้ว มันจะทำให้ผลตอบแทนรวมขยับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

การจัดสรรเงินลงทุนที่ดี เป็นหัวใจสำคัญของการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนมาก มากกว่า การเลือกหุ้นให้ถูกต้อง


เราจะต้องประเมินผลงานของผู้เล่นอยู่ตลอดเวลา และจัดสรรเงินลงทุนให้ถูกต้องอยู่ตลอดเวลา สำหรับนักลงทุนที่ตัดสินใจการลงทุนโดยดูจากพื้นฐานของบริษัทแล้ว ผลงานของนักแตะจะเป็น earning performance ในแต่ละไตรมาส หรือแต่ละปี หากว่าเป็นคนที่หากำไรส่วนต่างราคาแบบ trader ผลงานของนักแตะก็จะเป็น price performance ในแต่ละช่วงเวลา

ลองมาเล่นเกมจัดสรรเงินลงทุนกันดูครับ เราจะรู้สึกคล้ายๆกับว่า เราได้เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลเลยทีเดียว

เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เชียวนะครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ราคา คุณค่า กับ มูลค่า (Price, Value and Worth)

การลงทุนกับการเลี้ยงวัว

ข้อมูล หรือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น (Information, Fact or Opinion)